HBIS ยักษ์เหล็กจีน เทกฯ TSTH จ่าย 4,517 ล้าน กวาดตลาดไทย

กลุ่มทาทาจากอินเดียขายหุ้น TSTH กว่า 67% มูลค่า 4,517 ล้านบาท ให้กลุ่มทุนจีน HBIS Group ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ยอมจ่ายแพงหุ้นละ 0.79 บาท บวกความหวังใหม่ของนักลงทุน ดันหุ้นพุ่ง 17%

กลุ่ม ทาทาสตีล ผู้ผลิตเหล็กกล้าสัญชาติอินเดีย เข้ามาซื้อบริษัทเหล็กจากกลุ่มปูนซีเมนต์ไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH เบอร์ 1 ผู้ผลิตเหล็กเส้นของประเทศไทย ต้องตัดสินใจขายกิจการทิ้ง กลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิดดีกว่า เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กเต็มที่ ผิดจากประเทศไทยที่มีขนาดตลาดเล็กลงแถมยังเจอของถูกจากต่างประเทศเข้ามาดั๊ม ขณะเดียวกันผู้ผลิตเหล็กจีนมองหาโอกาสใช้ไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกหลังจากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้า 25% และอลูมิเนียม 10% HBIS Group ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ซื้อหุ้นทั้งหมด 67.90% ในราคาหุ้นละ 0.79 บาท มูลค่า 4,517 ล้านบาท คาดว่าการซื้อขายจะเสร็จภายใน 3-4 เดือน

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเหล็ก เปิดเผยว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ไม่สนใจดูแลอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ปัญหาเหล็กราคาถูกจากจีนเข้ามาดั๊มตลาดเกิดขึ้นมานานมาก จนทำให้ผู้ผลิตอยู่ไม่ได้ และไม่เพียงกลุ่มทาทาสตีลจากอินเดียเท่านั้นที่ขายเงินลงทุนใน TSTH ทิ้ง กลับอินเดียดีกว่า เพราะประเทศอินเดีย ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก นอกจากนี้ ผู้ผลิตสัญชาติเกาหลี และ ญี่ปุ่นก็กำลังคิดจะย้ายฐานผลิตเหล็กไปประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

“จีนอยากซื้อกิจการเหล็กของไทยมานานแล้ว เพื่อขยายตลาดในไทย ส่วนรัฐบาลไทยแก้ปัญหาดั๊มตลาดแบบไม่เต็มที่ และใช้เวลานานมาก จนผู้ผลิต เดือดร้อนหมด ประเทศอื่นไม่ว่า อเมริกา จีน อียู ประเทศเพื่อนบ้าน ปกป้องเต็มที่และรวดเร็ว ให้ความสำคัญกับ อุตสาหกรรมเหล็กมาก” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการซื้อขายหุ้น TSTH ครั้งนี้ จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ในประเทศสิงคโปร์โดย HBIS และผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมหรือ TSGH มีอำนาจควบคุม ในสัดส่วน 70% ต่อ 30%

ภายหลังการทำธุรกรรมเสร็จ Hebsteel Global จะมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TSTH มีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) เพื่อซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมด

สำหรับ HBIS Group มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ฉือเจียจวง, ประเทศจีน ในปี 2558 มีสินทรัพย์รวมประมาณ 1.74 ล้านล้านบาท และรายได้รวม 1.42 ล้านล้านบาท

ขณะที่ TSTH ประสบปัญหาการขาดทุน 178 ล้านบาทในไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 รวม 9 เดือนขาดทุนสุทธิ 71 ล้านบาท พลิกจากที่มีกำไรสุทธิ 379 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างทรงยาวในประเทศยังคงซบเซาจากความต้องการสินค้าที่ลดลง

ด้านราคาหุ้น TSTH ปรับขึ้นแรงในภาคบ่าย หลังจากบริษัทเปิดข่าวดี และปิดที่ 0.73 บาทบวก 0.12 บาทหรือ 19.67%