MFC แปลงโฉมบลจ.เติบโตจากเม็ดเงินภาครัฐ ขยายตลาดสู่ภูมิภาค ดึง “เดนนิส ชอง บุน ลิม” อดีตทีมบริหารจัดการกองทุนเทมเพิลตั้นของ “มาร์ค โมเบียส” นำทัพ รุกตั้งสาขาในสิงคโปร์ พร้อมออกกองทุน ไทยแลนด์ ฟันด์ ดึงเงินต่างชาติเข้าลงทุนไทย พาผู้ลงทุนไทยลงทุนนอก
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติแต่งตั้งนายเดนนิส ชอง บุน ลิม เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ซึ่งมีประวัติการทำงานที่เป็นที่ยอมรับที่เทมเพิลตั้นและมีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจจัดการลงทุนมายาวนานกว่า 25 ปี เพื่อนำพา MFC ไปสู่เป้าหมายในการเป็นบริษัทจัดการลงทุนในระดับภูมิภาค
MFC เป็นบริษัทจัดการกองทุนแห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 ด้วยความร่วมมือระหว่างบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และรัฐบาลไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการบริหารจัดการกองทุนของสินทรัพย์ภาครัฐ ณ สิ้นปี 2561 มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จำนวน 4.6 แสนล้านบาท จนถึงตอนนี้กลุ่มคันทรี่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MFC ต้องการแปลงโฉมให้เป็นบลจ.ที่มีสัดส่วนบริหารเงินลงทุนที่ไม่ใช่ภาครัฐมากขึ้น โดยขยายสู่การเป็นบลจ.ระดับภูมิภาค
“จากเป้าหมายดังกล่าวทำให้คุณสดาวุธ เตชะอุบล กรรมการและในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จึงเชิญมร.ลิม ซึ่งเคยทำงานร่วมกับมาร์ค โมเบียส ผู้ก่อตั้งกองทุนเทมเพิลตั้น มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการร่วมอีกท่านหนึ่ง เพื่อช่วยให้ MFC เติบโตได้ โดยพานักลงทุนไทยไปลงทุนนอกและพานักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย”ดร.ณรงค์ชัย กล่าว
สำหรับน.ส.ประภา ปูรณโชติ กรรมการผู้จัดการ ซึ่งทำงานเป็นปีที่ 8 และจะครบวาระในเดือนก.ย.นี้ โดยจะรับผิดชอบเฉพาะธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นช่วงทราน์ฟอร์เมอร์รีเจอนัล จากบลจ.ที่บริหารเงินภาครัฐและอยู่ในประเทศก็ไปเป็นบลจ.ระดับภูมิภาค โดยเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
น.ส.ประภา กรรมการผู้จัดการ MFC กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ MFC ซึ่งจะเป็นบลจ.ระดับสากลมากขึ้น สร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมและเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทยให้มั่นคง โดยชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งจากนี้ตนเองจะรับผิดชอบเฉพาะธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารัฐวิสาหกิจ ซึ่งลูกค้ารายใหญ่สุดมีขนาดสินทรัพย์ 4 หมื่นล้านบาท
“ในส่วนของธุรกิจด้านอื่นๆ ทั้งหมดนั้นคุณลิมจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งจากประสบการณ์ในการบริหารกองทุนเทมเพิลตั้ลที่ยาวนาน เชื่อว่าจะนำพา MFC ไปสู่จุดมุ่งหมายตามที่บอร์ดตั้งไว้และผลักดันพนักงานให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ประสบความสำเร็จในอนาคต”น.ส.ประภา กล่าว
นายสดาวุธ เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้น MFC กล่าวว่า กลุ่มคันทรี่ กรุ๊ป เข้ามาถือหุ้น MFC เกือบ 10 ปี ซึ่งมีผลประกอบการดีขึ้นต่อเนื่องและจ่ายเงินปันผลดีมาก ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งตอนที่เข้ามาถือหุ้นนั้นก็ดึงน.ส.ประภา ปูรณโชติ เข้ามาและพัฒนา MFC จนเติบโตขึ้น แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงมาก คณะกรรมการจึงเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเร็วจำเป็นต้องพัฒนาให้ MFC มีความมั่นคงและเป็นสากลมากขึ้น จึงต้องใช้ผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นสากลมากขึ้น
“เป้าหมายระยะยาวของเรา คือ การทำให้เอ็มเอฟซีเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญระดับภูมิภาคในอุตสาหกรรมการจัดการลงทุน เราเชื่อมั่นว่าคุณลิม เป็นก้าวแรกที่ดีในการนำไปสู่เป้าหมายของเรา จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมบริหารการลงทุนในกองทุนเทมเพิลตั้น “นายสดาวุธ กล่าว
นายเดนนิส ชอง บุน ลิม กรรมการผู้จัดการ MFC เปิดเผยว่า แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจกองทุนรวมจะสูงขึ้น มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากขึ้น เพราะฉนั้นความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้เอ็มเอฟซีเติบโตภายใต้การแข่งขันที่สูง โดยมีหน้าที่ 2 เรื่องหลัก คือ 1.ทำให้สินทรัพย์เติบโต และ 2. นำพา MFC เป็นบริษัทระดับภูมิภาคให้ได้ตามเป้าหมาย
สำหรับแผนที่จะดำเนินการต่อจากนี้ จะต้องทำให้กองทุนมีผลงานติดอยู่ในกลุ่มควอไทล์ที่ 1 และ 2 และต้องเปลี่ยนกระบวนการลงทุนให้มีความเข้มแข็งและเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญจะสร้างทีมงานวิจัย เพื่อรองรับเม็ดเงินของนักลงทุนทั่วโลก และอีกกลยุทธ์ที่จะใช้ คือ นำกองทุนรวมที่มีลัษณะคล้ายกันรวมกันเพื่อให้เป็นกองทุนเรือธงของบริษัท รวมทั้งจะเพิ่มกองทุนใหม่ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการผู้ลงทุนให้มากยิ่งขึ้น
นายลิม กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมจัดตั้งสำนักงานสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีแผนตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟันด์ ในสิงคโปร์ เสนอขายกลุ่มผู้ลงทุนที่มีเม็ดเงินขนาดใหญ่ เพื่อนำเงินมาลงทุนในไทย ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในหุ้นหรืออื่นๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักลงทุน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 6-9 เดือนในการจัดตั้งกองทุน โดยเชื่อมั่นว่า จากสไตล์ในการบริหารจัดการของตนเองจะสร้างความแตกต่างจากกองทุนอื่นๆ ได้
สำหรับการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ (AUM) ภายใต้การบริหารในปี 2562 นี้จะเติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับปรุงองค์กร พร้อมรุกตลาดในภูมิภาค จึงต้องพัฒนาและเพิ่มบุคคลากรเข้ามา จึงคาดว่า AUM ในปี 2563 จะเติบโต 10-15% ทั้งนี้ MFC จะเพิ่มบุคคลากรในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO) ซึ่งปัจจุบันยังว่างอยู่เข้ามาเสริมทัพ
ปัจจุบัน MFC มีมูลค่าสินทรัพย์ (AUM) ภายใต้บริหาร 4.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนรวม 2.41 แสนล้านบาท กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 4.13 หมื่นล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.52 แสนล้านบาทและกองทุนส่วนบุคคล 2.80 หมื่นล้านบาท
“ผมรู้สึกตื่นเต้นกับความท้าทายใหม่นี้ เอ็มเอฟซีเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการจัดการลงทุนในประเทศไทย มีประวัติอันยาวนาน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีศักยภาพทางธุรกิจที่จะเติบโตได้ในประเทศไทย และที่น่าตื่นเต้น คือ โอกาสในการขยายธุรกิจในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากรทำงานด้วยความขยันขันแข็งกว่า 650 ล้านคน และภูมิภาคนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง รวมทั้งรายได้ของประชากรก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย หากเราดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอ็มเอฟซีจะมีการเจริญเติบโตอย่างมากภายหลังปีพ.ศ.2563″นายลิม กล่าว
อย่างไรก็ตามการได้มาร่วมงานกับเอ็มเอฟซีในจังหวะที่ดี ผมเชื่อว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงหลายๆด้าน ในปี 2562 เราจะเห็นสถานการณ์ที่สำคัญที่จะมีผลกระทบระดับโลก สหรัฐอเมริกาและจีนกำลังทำสงครามการค้า ซึ่งมีนัยสำคัญต่อประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศแถบยุโรปยังไม่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสอีกมาก เช่น การย้ายกำลังการผลิตจากประเทศจีนมาประเทศกลุ่มอาเซียน อันจะส่งเสริมการลงทุนในไทยจากประเทศอื่นๆ และเราอาจเห็น SET ปรับตัวขึ้น 20% ขึ้นไป
ก่อนหน้านี้ นายลิม ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เทมเพิลตั้น แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด (Templeton Asset Management Limited) บริษัทที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท แฟรงค์ลิน รีซอร์สเซส อิงค์ (Franklin Resources Inc.) ซึ่งเป็นบริษัท S&P 500 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก นายลิม มีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจจัดการลงทุนมายาวนานกว่า 25 ปี โดยในระหว่างที่ทำงานที่บริษัท เทมเพิลตั้น แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด นายลิม ได้บริหารและร่วมบริหารการลงทุนในตราสารทุนในตลาดเกิดใหม่รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ได้ร่วมทำงานกับกูรูตลาดเกิดใหม่ ดร.เจ มาร์ก โมเบียส โดยมีบทบาทสำคัญในการสร้างกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่เทมเพิลตั้นจนกลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในโลก