ASP แนะลงทุนหุ้นกลุ่มรับเหมาได้อานิสงส์ลงทุนรัฐมาตามนัด เชียร์ซื้อ STEC กำไรเทิร์นอะราวด์ 1.32 พันล้านบาท ส่วน CK มีรายได้ต่อเนื่องจากธุรกิจที่มั่นคง
วันที่ 7 พ.ค. บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส หรือ ASP ออกบทวิเคราะห์ล่าสุด โดยแนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่มรับเหมาที่จะได้ประโยชน์โดยตรง เพราะโครงการลงทุนภาครัฐมีความคืบหน้าต่อเนื่อง ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท และโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท หลังราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงมากที่สุด 19% เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความล่าช้าในการเปิดประมูลโครงการภาครัฐ
ฝ่ายวิจัยฯ ASP แนะนำให้ซื้อหุ้นซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เนื่องจากคาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวแรง โดยพลิกมามีกำไร 1,320 ล้านบาทในปีนี้จากที่ขาดทุน 608 ล้านบาทในปีที่แล้ว ราคาเหมาะสม 25 บาท และ ช.การช่าง (CK) เนื่องจากธุรกิจมั่นคงและมีรายได้จากหลายทาง ราคาเหมาะสม 34 บาท นอกจากนี้ ASP ยังมองว่า บริษัทที่ขาดทุนหนักในปี 2560 เช่น เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) และบีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี (BJCHI) จะกลับมามีกำไรดีขึ้นในปีนี้
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้รับก่อสร้างงานเสาเข็มเจาะและงานฐานราก เช่น ซีฟโก้ (SEAFCO) และไพลอน PYLON จะได้ประโยชน์เป็นลำดับแรกจากการลงทุนภาครัฐ และคาดว่าจะทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
“ข่าวความคืบหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐที่ออกมาต่อเนื่อง ส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง แต่พอมาดูราคาหุ้นกลุ่มนี้กลับไม่ไปไหนเลย เกิดอะไรขึ้น โดยขณะนี้จะเห็นได้ว่ามีโครงการที่จะเปิดประมูลชัดเจนแล้ว 2 โครงการ วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จากแผนของภาครัฐที่จะมีงานประมูลปีนี้ 8.2 แสนล้านบาท”ออกบทวิเคราะห์ระบุ
ฝ่ายวิจัยฯ ยังระบุว่า ปีนี้คาดว่าบริษัทรับเหมา 10 บริษัท จะมีกำไร 6,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 619% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากยอดรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้น 10% จากงานในมือ (backlog) ที่มีรวมกันสูงกว่า 4.5 แสนล้านบาท และกำไรต่อหุ้น (พี/อี) จะลงมาอยู่ที่ 21.9 เท่าจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 157 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เคยอยู่สูงกว่า 25-30 เท่า
น.ส.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CK คาดว่า ปีนี้ภาครัฐจะเปิดประมูลงานก่อสร้าง 4 แสนล้านบาท จากแผนลงทุนภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น และบริษัทอยู่ระหว่างหาพันธมิตรเพื่อร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยปีนี้บริษัทคาดว่าจะได้งาน 20-25% หรือ 1 แสนล้าน และคาดว่าจะมีรายได้จากงานก่อสร้างใกล้เคียงปีที่แล้วที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมี backlog 7.2 หมื่นล้านบาท
“เราเชื่อว่าหลังจากนี้ภาครัฐจะทยอยเปิดประมูลงานต่อเนื่อง และแม้ว่าปีที่แล้วบริษัทจะมีกำไรเหลือ 1,810 ล้านบาทจากปีที่แล้วที่มีกำไร 2,002 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบผลประกอบการกับผู้รับเหมารายอื่นๆของเราจะดีกว่า ทั้ง STEC ที่ปีที่แล้วขาดทุน หรือ UNIQ ที่มีกำไร 890 ล้านบาท และITD ที่มีกำไรเพียง 412 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลงานเราไม่ได้แย่แต่อย่างใด ”น.ส.สุภามาสกล่าวระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2561
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ STEC กล่าวว่า บริษัทยังคงต้องติดตามว่าปีนี้การประมูลงานภาครัฐจะออกมามากน้อยเพียงใด ส่วนโครงการก่อสร้างรัฐสภาที่ล่าช้า ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองขาดทุน 2,800 ล้านบาท จนส่งผลให้ปีที่แล้วบริษัทขาดทุน 608 ล้านบาทนั้น เป็นการตั้งสำรองครั้งเดียวจบ โดยปีนี้มั่นใจว่าบริษัทจะพลิกกลับมามีกำไร ขณะที่ backlog ที่มีในมือ 1.3 แสนล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ไปนาน 3-4 ปี
“การประมูลโครงการภาครัฐอาจจะออกไม่ทันตามแผน ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆอย่าง แม้แต่การลงทุนโครงการในอีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง จะลงทุนได้ก็ต้องรอให้มีการพ.ร.บ.อีอีซี ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาก่อน แต่ได้ข่าวว่าทีโออาร์โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะออกมาในเดือนนี้”นายภาคภูมิระบุ
ด้านผู้บริหาระดับสูงจาก ITD ประเมินว่า บริษัทตั้งเป้ารับรู้รายได้ในปีนี้ 1 แสนล้านบาท จาก backlog ที่มีในมือ 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานที่เซ็นสัญญาแล้ว 3.2 ล้านบาท คือ งานในประเทศ 2 แสนล้านบาทและงานในต่างประเทศ 1.2 แสนล้านบาท ส่วนงานที่รอเซ็นสัญญา 1.8 แสนล้านบาท และปีนี้คาดว่าบริษัทจะได้งานก่อสร้างใหม่เข้าในมือไม่ต่ำกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาครัฐเปิดประมูลโครงการจำนวนมาก หลังจากการประมูลล่าช้ามาจากปีที่แล้ว
ล่าสุดวันนี้ (7 พ.ค.) ITD แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ลงนามในสัญญาก่อสร้างกับ สุมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เพื่อก่อสร้างโครงการงานติดตั้ง Power Distribution System (PDS), Communication System (COM), Signalling System (SIG) and Automatic Fare CollectionSystem (AFC) ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง สัญญาที่ 3 ระหว่างสถานีวัดเสมียนนารี-สถานีรังสิตและระหว่างสถานีบางซ่อน-สถานีตลิ่งชัน 342 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ กิจการร่วมค้า สุมิโตโม- อิตาเลียนไทย ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท สุมิโตโม มิตซุย คอร์ปอเรชั่น (SMCC) และ ITD ได้ร่วมลงนามในสัญญาก่อสร้างกับ Dhaka Mass Transit Company Limited เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้ายกระดับสายที่ 6 สัญญา CP-06 นครธากา ประเทศบังกลาเทศ มูลค่างาน 8,677 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของ ITD มูลค่า 4,251 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของ SMCC
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมลงนามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในสัญญาก่อสร้างโครงการจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 9 จังหวัดลำปาง มูลค่า 31,650 ล้านบาท