เงินบาทแข็งค่า ตลาดหุ้นพุ่งแรง 15 จุด วอลุ่มหนาแน่นหนุน รับข่าววันเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ สถาบันซื้อหนักเจ้าเดียว 6 พันล้านบาท นายกสมาคมบล.มองบวกระยะสั้น ปัจจัยลบถ่วงไปไม่ไหว บล.ไทยพาณิชย์คาดตลาดผันผวน ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยติดลบ 0.1% หั่นเศรษฐกิจลงพรวดเดียวจาก 1.4% เหลือ 0.9% ปีนี้ ผลจากไอเอ็มเอฟลดเป้าเติบโตของโลก ธปท.คาดส่งออกโตเพียง 3.8% ต่ำกว่าที่พาณิชย์คาด
ตลาดหุ้นไทยวิ่งแรงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ดัชนีปิดที่ระดับ 1,617.38 จุด เพิ่มขึ้น 15.61 จุด +0.97% มูลค่าการซื้อขายมากถึง 67,874.58 ล้านบาท รับข่าวดีการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.2562 โดยนักลงทุนสถาบันไทยซื้อมากกว่า 6,527 ล้านบาท รายย่อยขายทำกำไรเฉียด 6 พันล้านบาท ต่างชาติขายเล็กน้อย โดยหุ้นขึ้นเกือบทั่วกระดาน โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารและหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้ง เช่น ธุรกิจสื่อ ส่วนกลุ่มพลังงาน ทรงและลดลงตามราคาน้ำมัน
ทางด้านค่าเงินปิดที่ 31.74/75 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่ารับเงินไหลเข้าหลังมีวันเลือกตั้งชัดเจน
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า การกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนวันที่ 24 มี.ค. จะช่วยให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความมั่นใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ในระยะสั้นๆ แต่ยังมีปัจจัยลบ เรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 4/2561 ที่ผ่านมา และปัจจัยต่างประเทศ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ -จีน และการถอนตัวของอังกฤษจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ( เบร็กซิต)
“ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นค่อนข้างดี จากเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น แต่จะต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2561 จึงจะทราบว่าทิศทางตลาดหุ้นไทย”นางภัทธีรา กล่าว
นายกัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นจากการกำหนดวันเลือกตั้งนับเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น ทิศทางตลาดยังต้องติดตาม ผลการเลือกตั้ง รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายต่อเนื่องจากที่มีอยู่หรือไม่ หากยังเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องแนวโน้มตลาดก็ยังมีทิศทางที่ดี เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็ยังดี
อย่างไรก็ตาม นายกัมพล คาดว่าตลาดหุ้นยังมีความผันผวน เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงความไม่แน่นอนเบร็กซิก ยังสร้างความกังวลต่อการลงทุนต่อไป
ทางด้านปัจจัยต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับติดลบ 0.1% ต่อไปในการประชุมวันที่ 23 ม.ค. พร้อมคงวงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ระดับเดิม ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2561 ลงเหลือ 0.9% จากระดับ 1.4%
ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกลง 2 ปี ในปี 2562 และ 2563 ลดลงอยู่ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ จากประมาณการเดิมอยู่ที่ระดับ 3.7% ทั้งสองปี โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คาดว่าจะขยายตัวราว 2.0% ลดลงจากการประมาณการ ก่อนหน้า 0.1% โดยเฉพาะยูโรโซนที่ถูกปรับลดลงมากราว 0.3%คาดจะขยายตัว 1.6% ญี่ปุ่นถูกปรับประมาณการสูงขึ้น 0.2% คาดว่าจะขยายตัวราว 1.1% และ 0.5% ตามลำดับ
สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา คาดในปีนี้ จะขยายตัวราว 4.5% ลดลงจากการประมาณการ ก่อนหน้า 0.2% ด้านเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ถูกปรับลดจาก 4.7% มาอยู่ที่ 4.5%
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับลดเศรษฐกิจโลกมาอยู่ที่ 3.5% ในปีนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ ธปท. ประเมิน และเป็นสาเหตุหลักที่ ธปท.ปรับลดประมาณการการส่งออกรวมถึงเศรษฐกิจไทยทั้งในปีที่แล้วและปีนี้ลง โดยในปีนี้ ธปท.คาดส่งออกที่ 3.8% ต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ไว้ที่ 3.6% ซึ่งสูงกว่า 3.5% ในปีนี้เล็กน้อย ซึ่งบ่งชี้ว่าไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงต่อเนื่อง