บลจ.กรุงไทย เสิร์ฟกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 2 กองทุน อายุ 1 ปี จ่าย 2.00% ลงทุน 3 เดือน คาดผลตอบแทน 1.60% ต่อปี เปิดขายครั้งเดียวถึง 29 ม.ค.นี้
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่าย 2 กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 213 ( KTFF213) อายุโครงการ 3 เดือน และกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 208( KTFF208) อายุโครงการ12 เดือน เสนอขายตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 29 มกราคม 2562
กองทุน KTFF213 อายุโครงการ 3 เดือน เน้นลงทุนในเงินฝากประจำ Agricultural Bank China , Bank of China , Bank of Communications ,Qatar Natrional Bank , AL Khalij Commercial Bank , AL Ahli bank และ Comercial Bank PQSC ผลตอบแทนประมาณ1.60%ต่อปี ส่วนกองทุน KTFF 208 อายุโครงการ 12 เดือน เน้นลงทุนใน Union National Bank Abu Dhab , AL Khalij Commercial Bank , AL Ahai Bank , Commercail Bank PQSC และ MTN ของ Mashreq Bank ผลตอบแทนประมาณ 2.00%ต่อปี
สำหรับในปี 2562 อัตราดอกเบี้ยในประเทศ มีแนวโน้มขยับตัวขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก แต่ความถี่ของการขยับขึ้นลดลงตามชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ และความกังวลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงจะถูกกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงความไม่แน่นอนอื่นจากปัจจัยต่างประเทศ
ขณะที่ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยโลก อย่างไรก็ตามมองว่า อัตราผลตอบแทนในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าตราสารหนี้ในประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกภายใต้แรงกดดันจากความเสี่ยงสำคัญกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ด้านความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงกดดันหลักจากทิศทางของราคาน้ำมัน ซึ่งบริษัทคิดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากจากปีก่อน จึงเป็นผลดีต่อการลงทุนในตราสารหนี้ในภาพรวม ปัจจัยด้านการใช้นโยบายการเงินคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งไทยและสหรัฐฯ แม้จะเป็นช่วงขาขึ้น แต่ความถี่ในการขยับขึ้นคงมีไม่มาก มีผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศ และปัจจัยทางด้านนโยบายการคลังในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ภายในประเทศมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินในระบบ แต่ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนภาครัฐหลังการได้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเป็นหลัก
ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หรืออาจอยู่ในระดับใกล้เคียงสิ้นปี 2561 ที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุหลักจากไทยยังคงเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดจากมูลค่าการส่งออกและรายได้การท่องเที่ยว
อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวในลักษณะ Twist โดยตราสารอายุต่ำกว่า 3 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตราสารอายุคงเหลือ 4-12 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง ตามการปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติจากตราสารระยะสั้น ไปตราสารระยะกลางถึงยาว โดยตลาดตอบรับการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปี ค่อนข้างดี โดยมี BCR1 ถึง3.48เท่า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดขายสุทธิ 17,000 ล้านบาท โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 bps อยู่ที่ 1.78% อายุคงเหลือ5 ปี ปรับตัวลดลง 1 bps. อยู่ที่ 2.14% ต่อปี อายุคงเหลือ10 ปี ปรับตัวลดลง 3 bps อยู่ที่ 2.50% ต่อปี
ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุ ตามกระแสการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น( Risk on) หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริหากับจีน มีความคืบหน้า และความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทางการรัฐหลายแห่งของสหรัฐปิดทำการ( Partial Government Shutdown) โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps. อยู่ที่ 2.62% ต่อปี อายุคงเหลือ5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 bps. อยู่ที่ 2.62% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps. อยู่ที่ 2.62% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 bps. อยู่ที่ 2.62%
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน