การบินไทย เตรียมจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ทดแทนลำเก่า 31 ลำ คาด 2-3 เดือนจะได้ข้อสรุปแหล่งเงินทุน ส่วนเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง 20 ลำ ขายได้แล้ว 16 ลำ มูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก จนถึงสิ้นปีนี้
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า แผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ในกรอบ 38 ลำ แบ่งเครื่องบินลำใหม่ 25 ลำ จะทดแทนเครื่องบินเก่า 19 ลำ และเครื่องบินใหม่อีกล็อต 13 ลำ ก็จะทดแทนเครื่องบินเก่า 12 ลำ เป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของบริษัท ที่จะเน้นความถี่ของการบินมากกว่าระยะทาง
ส่วนขั้นตอนการจัดหาเครื่องบิน นายสุเมธกล่าวว่า บริษัทจะทำหนังสือแจ้งเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องบินใหม่ไปยังกระทรวงคมนาคม อย่างเร็วสุดภายในวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.นี้ อย่างช้าสุดก็สัปดาห์หน้า หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมก็จะพิจารณาและส่งต่อไปยังสภาพัฒน์ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ
“เราต้องเร่งดำเนินการ เพราะปัจจุบันนี้ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ๆ ของโลกมีออเดอร์เต็มมือ ถ้าช้าก็จะไม่ดี หากเราเร่งดำเนินการเชื่อว่า ล็อตแรกจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าว
สำหรับ เครื่องบินลำใหม่ จะเป็นการซื้อหรือเช่านั้นยังไม่สามารถระบุได้ จะต้องรอสรุปเรื่องแหล่งเงินทุนก่อน คาดว่าภายใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตามในระยะสั้นบริษัทมีแผนที่จะเช่าเครื่องบินมาใช้งานก่อน 2 ลำ ซึ่งมีขนาดลำละ 300 ที่นั่ง เพราะประสบปัญหาเครื่องบินไม่มาก ปัจจุบันมีฝูงบินทั้งหมด 101 ลำ หากรับมอบครบ ก็จะมีเครื่องบินเพิ่มเป็น 110 ลำ
ทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร(ASK) เพิ่มขึ้นประมาณ 3% ต่อปี ในช่วงเวลา 5-7 ปีขึ้นไป ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสารในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 75-78% ใกล้เคียงกับปีก่อน
สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2562 นายสุเมธ กล่าวว่า จะมุ่งเน้นการหารายได้เพิ่มจากธุรกิจด้านการสนับสนุน เช่นธุรกิจครัวการบินไทย รวมถึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO)ที่อู่ตะเภา และดอนเมือง ขณะเดียวกันก็จะทำงานร่วมกันในกลุ่มสายการบินของการบินไทยมากขึ้น ทั้งสายการบินไทยสไมล์ ซึ่งมีนโยบายเชื่อมต่อกัน ด้านการให้บริการ รวมถึงการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผลประกอบการของไทยสไมล์จะมีทิศทางที่ดีขึ้น ในส่วนของสายการบินนกแอร์ จะขอความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องการเพิ่มทุนก่อนจึงจะกำหนดแนวทางต่อไป
นายสุเมธกล่าวอีกว่า ธุรกิจการบินในปีนี้การแข่งขันยังมีความรุนแรงเหมือนกับปีก่อน โดยสายการบินต้นทุนต่ำมีเส้นทางบินที่ไกลมากขึ้น ส่วนบริษัทการบินไทย มีจุดแข็งคือการให้บริการเต็มรูปแบบ และเป็นสายการบินแบบพรีเมี่ยม ในส่วนราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น มองว่ากระทบกับทุกสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ก็ต้องมีการปรับราคาตั๋วขึ้น ทำให้ความจูงใจที่ผู้โดยสารจะมาใช้บริการลดลง
นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายช่าง THAI กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะขายเครื่องบินเก่าที่ปลดระวางแล้ว จำนวน 20 ลำ ขณะนี้มีจำนวน 16 ลำ ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อแล้ว ซึ่งมีผู้ซื้อ 3 ราย มูลค่าที่ขายประมาณ 4,000 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรก ส่วนเครื่องบินอีก 4 ลำก็จะประกาศขายต่อไป