แบงก์ชาติ รอข้อมูลเพิ่มจากแบงก์กรุงไทย พิจารณากรณี “กิตติพันธ์” ถูกกล่าวหาทุจริตปล่อยกู้ EARTH ชี้กระทบความน่าเชื่อถือผู้บริหารสถาบันการเงิน
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แบงก์ชาติ อยู่ระหว่างรอธนาคารกรุงไทย ชี้แจงเพิ่มเติม กรณีอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ถูกกล่าวโทษว่าไม่รักษาผลประโยชน์ธนาคาร ปฎิบัติหน้าที่ไม่สุจริต กรณีปล่อยกู้ EARTH ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อคุณสมบัติ และความน่าเชื่อถือของผู้ทำหน้าที่บริหารสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ อดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทย หรือ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และ ธปท. เห็นว่ายังมีข้อมูลที่ต้องให้ ธ.กรุงไทย ชี้แจงเพิ่มเติมในบางประเด็น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการรอข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นางจันทวรรณ กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด จึงได้กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติ ของการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินไว้ในระดับที่สูง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งก็เป็นแนวที่ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลทั่วโลกใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
ขณะที่นายกิตติพันธ์ ยืนยันความบริสุทธิ์ พร้อมอุทธรณ์คำสั่งภายใน 60 วัน
ทั้งนี้ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 กำหนดคุณสมบัติและความสามารถที่เหมาะสม (Fit and Proper) โดยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 และลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านความซื่อสัตย์ สุจริต และชื่อเสียง (Honesty, Integrity and Reputation)
2. ด้านความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ (Competence, Capability and Experiences)
3. ด้านสถานะทางการเงิน (Financial Soundness)
หากพบว่า มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 (1) ถึงมาตรา 24 (9) แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 หรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมใน 3 ด้านหลัก ธปท. จะพิจารณาเพิกถอนการให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งเมื่อใดก็ได้
ลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวกับประเด็นความซื่อสัตย์ สุจริต และชื่อเสียง ประกอบด้วย
(1) เคยถูก ธปท. หรือ ก.ล.ต. สั่งถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอํานาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน หรือบริษัทหลักทรัพย์ใดมาก่อน เว้นแต่จะพ้นระยะเวลาที่กําหนด ห้ามดํารงตําแหน่งดังกล่าวแล้ว หรือได้รับการยกเว้นจาก ถูก ธปท. หรือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี
(2) เคยถูก ธปท. หรือ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานของรัฐทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่กํากับและควบคุมสถาบันการเงิน กล่าวโทษ ร้องทุกข์ หรือกําลังถูกดําเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง หรือทุจริต ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของสถาบันการเงินและหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่น ๆ เว้นแต่ ปรากฏว่าคดีถึงที่สุดโดยไม่มีความผิด
(3) เคยถูกหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากที่ระบุไว้ ในข้อ (2) กล่าวโทษ ร้องทุกข์ หรือกําลังถูกดําเนินคดี ในความผิดฐานฉ้อโกง หรือทุจริตทางการเงิน เว้นแต่ปรากฏว่าคดีถึงที่สุดโดยไม่มีความผิด
(4) มีหรือเคยมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจหรือการดําเนินกิจการใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นหรือประชาชน
(5) มีหรือเคยมีประวัติส่วนตัวหรือพฤติกรรมที่เป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรม หรือเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หรือมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทําดังกล่าวของบุคคลอื่น
(6) มีหรือเคยมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการทํางานอันส่อไปในทางไม่สุจริต หรือฉ้อฉล หรือมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทําดังกล่าวของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการเลือกปฏิบัติ หรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดอันอาจก่อให้เกิด ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)
(7) มีหรือเคยมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการละเลยการตรวจสอบดูแลหรือ การปฏิบัติงานที่พึงกระทําตามสมควรเยี่ยงกรรมการผู้จัดการ หรือผู้มีอํานาจในการจัดการของสถาบัน การเงิน ซึ่งทําให้สถาบันการเงินฝ่าฝืนกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ คู่มือการปฏิบัติงานภายใน ตลอดจนมติของคณะกรรมการ หรือมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาสินเชื่อ การตัดสินใจลงทุน หรือดําเนินการอื่นใด อันเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสถาบันการเงิน หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ หรือการดําเนินธุรกิจของสถาบันการเงินอย่างมีนัยสําคัญ หรือ เกิดความเสียหายต่อลูกค้าของธุรกิจสถาบันการเงิน