ตลท.รุกแพลตฟอร์ม “Live” เปิดทาง “8 สตาร์สอัพ” ระดมทุนจากนักลงทุนโดยตรง เพื่อนำเงินมาขยายธุรกิจ เผยความต้องการระดมทุนรอบนี้อยู่ที่ 100 ล้านบาท
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ได้จัดตั้งบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนรูปแบบ Crowdfunding ผ่านแพลตฟอร์ม “LiVE” โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้ผู้ระดมทุน คือ สตาร์สอัพและเอสเอ็มอี ได้พบกับนักลงทุน เพื่อระดมเงินทุนมาขยายธุรกิจ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การเป็นช่องทางซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทสตาร์สอัพในรูปแบบการเจรจาต่อรอง (OTC)
นายพงศ์ปิติ เอกเธียรชัย ผู้อำนวยการบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัท 8 แห่งที่จะเข้าระดมทุนภายใต้แพลตฟอร์ม “LiVE” ซึ่งแต่ละรายต้องการเงินระดมทุน 5-60 ล้านบาท คิดเป็นเงินรวมประมาณ 100 ล้านบาท โดยบริษัทเหล่านี้จะต้องเสนอโมเดลและโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้กับนักลงทุน 2 ครั้งในรอบ 60 วัน และเปิดระดมทุนรอบแรกภายใน 60 วันเช่นกัน ล่าสุดมีนักลงทุนสถาบัน 40-50 แห่ง สนใจเสนอเงินทุนผ่านแพลตฟอร์ม “LiVE”
ทั้งนี้ บริษัทที่จะเข้าระดมทุนต้องเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย ไม่จำกัดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารไม่มีประวัติความผิดทางกฎหมาย และมีข้อมูลงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับการอนุญาต แต่ในกรณีระดมทุนเกิน 20 ล้านบาท บริษัทต้องมีประวัติการระดมทุนอย่างน้อย 5 ล้านบาทหรือมีผู้สนับสนุนอยู่แล้ว แต่หากระดมทุนเกิน 100 ล้านบาท ต้องมีงบการเงินที่รับรองโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
“ยังมีสตาร์สอัพอีกกว่า 50 รายสนใจระดมทุนผ่านช่องทางนี้ ซึ่งตลท.จะเข้าไปคัดกรองเบื้องต้นก่อน แต่เนื่องจากการลงทุนธุรกิจสตาร์สอัพมีความเสี่ยงสูง ในระยะแรกจึงยังไม่เปิดให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาร่วมลงทุน แต่จะให้ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการการเงินร่วมทุน นิติบุคคลร่วมทุน และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท หรือมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีประสบการณ์การลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี เข้าลงทุนก่อน”นายพงศ์ปิติกล่าว
นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลท.เป็นช่องทางระดมทุนให้บริษัทขนาดกลางและบริษัทขนาดใหญ่ แต่ยังมีบริษัทขนาดเล็กและสตาร์สอัพอีกมากที่ต้องการระดมทุน ดังนั้น ตลท.จึงเข้ามาเป็นตัวกลางให้บริษัทขนาดเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยตรงจากนักลงทุน และในระยะต่อไป แพลตฟอร์ม “LiVE” จะเป็นช่องทางให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ของสตาร์สอัพระหว่างกันได้ด้วย
นายยาญชัย ตันติรัฐพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเข้าไปลงทุนธุรกิจสตาร์สอัพและฟินเทคในสหรัฐและอิสราเอล ส่วนในไทยแทบไม่มี ซึ่งปัจจุบันเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่หาบริษัทที่ดีเข้าลงทุนไม่ได้ โดยหากธุรกิจที่เข้าไปลงทุนนั้นเป็นธุรกิจที่ดีและเติบโต ผู้ลงทุนจะผลตอบแทนจากการขาย IPO หรือหากธุรกิจนั้นต่อยอดกับธุรกิจเดิมได้ก็จะเทคโอเวอร์เข้ามา เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจหลักต่อไป