ตามคาด! กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ปรับขึ้นอัตราดอกเบึ้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ค่าเงินบาทนิ่ง ส่วนตลาดหุ้นดีดขึ้นแรงเกือบ 18 จุด นำโดยแบงกใหญ่ นักลงทุนคาดว่าธนาคารพาณิชย์ต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ตลาดรอลุ้นผลประชุมเฟดคืนนี้ ค่ายกรุงศรีคาดกนง.ปรับดอกเบี้ยอีกรอบในเดือนมี.ค. ส่วนกสิกรไทยรอครึ่งหลังปี 2562
ตลาดหุ้นคักคักวันแรกในรอบหลายวัน หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 2 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ส่งผลให้หุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่วิ่งนำตลาด เช่น ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) บวก 3.50 บาทหรือ 1.85% ปิดที่ 188.50 บาท และธนาคารกรุงเทพ(BBL) เพิ่มขึ้น 3 บาทหรือ 1.46% ปิดที่ 208 บาท ขณะเดียวกันกลุ่มพลังงานก็ฟื้นตัวเช่นเดียวกัน หนุนให้ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,601.12 จุดพุ่งขึ้น 17.93 จุด หรือ 1.13% ด้วยมูลค่าการซื้อขายไม่มากนัก 45,167 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายเล็กน้อย 727 ล้านบาท ซื้อตราสารหนี้ไทย 920 ล้านบาท ส่วนสถาบันไทยซื้อหุ้น 916 ล้านบาท ด้านค่าเงินบาทแคบๆ ระดับ 32.70 ต่อดอลลาร์
มาร์เก็ตติ้งกล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง. เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ที่เข้ามาเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ แม้ว่า ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทยจะออกไม่ประกาศว่าจะไม่ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ตามกนง. ก็ตาม แต่คาดว่าในที่สุดธนาคารพาณิชย์บางแห่ง จะปรับดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ธนาคารต้องปรับขึ้นตาม เพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกันการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ครั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าตะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% นับเป็ยนครั้งที่ 4 ของปีนี้
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทยังคงทรงตัวและซื้อขายแถวระดับ 32.70 ต่อดอลลาร์ โดยนักลงทุนมีความระมัดระวังก่อนผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะประกาศในคืนนี้ นับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงเพียง 0.5% เทียบกับดอลลาร์ และคาดว่าเงินบาทจะยังเป็นสกุลที่ปรับตัวได้ดีที่สุดในภูมิภาคจนถึงสิ้นปีนี้
“เรามองว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งไปที่ระดับ 2.00% ในเดือนมีนาคม 2562 ก่อนที่จะตรึงดอกเบี้ยยาวไปจนถึงสิ้นปี”ธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุ
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่มองว่า กนง. น่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอีกอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เป็นไปในลักษณะที่ไม่ต่อเนื่อง เหตุผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินคงจะประเมินความพร้อมของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2562