ทริสลดอันดับเครดิตองค์กร EPCO เป็น ‘BBB-‘ จาก ‘BBB’ แนวโน้ม ‘คงที่’ สะท้อนถึงระดับหนี้สินที่สูงขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่ ปีหน้าเงินกู้รวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ล้านบาท อายุของวงเงินกู้ไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสด ความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการขยายธุรกิจไฟฟ้าไปเวียดนาม
บริษัท ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) เป็นระดับ “BBB-” จากระดับ “BBB” สะท้อนถึงระดับหนี้สินที่สูงขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่ การใช้สัดส่วนหนี้สินในระดับสูง ทำให้ความยืดหยุ่นทางการเงินลดลง อันดับเครดิตถูกลดทอนลงบางส่วนจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่หดตัวลง ภาระหนี้สินที่สูงขึ้นจากการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้า และความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
บริษัทก่อภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในในธุรกิจโรงพิมพ์และธุรกิจไฟฟ้า บริษัทจะใช้เงินราว 420 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น 84.5% ของบริษัท ดับบลิวพีเอส (ประเทศไทย) หรือ WPS เพื่อขยายไปยังธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และยังขยายพื้นที่สำหรับธุรกิจโรงพิมพ์อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะใช้เงินราว 200 ล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องจักรสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์อีกด้วย แม้ว่าทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 300 ล้านบาทต่อปี หลังจากดำเนินงานเต็มกำลังการผลิตได้ในช่วงกลางปี 2562 แต่ข้อด้อยคือบริษัทใช้เงินกู้ทั้งหมดในการเข้าซื้อหุ้น WPS
นอกจากนี้ บริษัทยังจะใช้เงินประมาณ 5,100 ล้านบาทสำหรับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามและญี่ปุ่นในช่วงปี 2561 และ 2562 ทำให้มีภาระหนี้สินในระดับสูงตลอดช่วง 2-3 ปีข้างหน้า การกระจายความเสี่ยงส่งผลดี โดยบริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2555 ผ่านบริษัทย่อยคือ EP ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นจำนวน 75% ทำให้มีกระแสเงินสดที่มั่นคงมากขึ้นและมีฐานรายได้โดยรวมสูงขึ้น
ธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว ณ เดือนกันยายน 2561 สินทรัพย์ของธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็น 67% ของสินทรัพย์ทั้งหมด และยังมีสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 65% ของบริษัท
บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 3 โครงการในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาทในช่วงปี 2561-2562 นอกจากนี้ บริษัทเพิ่งประกาศการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 โครงการในประเทศเวียดนาม มีกำลังการผลิตรวม 99.6 เมกะวัตต์ โดยต้องใช้เงินลงทุนราว 2,800 ล้านบาท ซึ่งใน เวียดนามจะคิดเป็น 20% ของกำลังการผลิตทั้งหมด มีกำหนดเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์(COD)ในเดือนมิถุนายน 2562 ส่วนในประเทศญี่ปุ่น COD ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2562 ตามประมาณการกรณีฐาน บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 550-900 ล้านบาทในปี 2561-2562 จากราว 400 ล้านบาทต่อปีในปีก่อนๆ และจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1,400-1,500 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
ทริสเรทติ้งเห็นว่าการลงทุนในประเทศเวียดนามมีความเสี่ยงสูงกว่าโครงการต่างๆ ในประเทศไทยและญี่ปุ่น รัฐบาลเวียดนามได้สนับสนุน กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าแบบคงที่ ( FiT) จำนวน 0.0935 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่จะจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าที่สามารถ COD ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562 เท่านั้น ดังนั้นความล่าช้าในการก่อสร้างจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของโครงการ ทั้งนี้ ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายของรัฐบาลสำหรับราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่เริ่มผลิตหลังผ่านพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ความเสี่ยงด้านการก่อสร้างถูกลดทอนบางส่วนจากเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและหนังสือค้ำประกันที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่โรงไฟฟ้าไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันตามที่กำหนด โดยมีเหตุล่าช้ามาจากผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทไม่ต้องจ่ายค่างานก่อสร้างในงวดสุดท้าย
บริษัทมีการก่อภาระหนี้สินมากกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยประมาณการไว้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 1,300 ล้านบาทในปี 2561 และสูงถึง 4,300 ล้านบาทในปี 2562 เพื่อใช้ลงทุนในต่างประเทศ ตามประมาณการกรณีฐาน เงินกู้รวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ล้านบาทในปี 2562 จาก 6,021 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2561 นอกจากนี้ยังคาดว่าต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้นจากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้น
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ในระดับเกือบ 70% ในปี 2561 และจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงจนต่ำกว่า 60% ในปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินในระดับต่ำที่ 3.7% ในปี 2560 และจะยังคงอยู่ในระดับ 4 -5% ในปี 2561-2562 โดยอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวขึ้นไปเกิน 10% ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป บริษัทมีภาระเงินกู้ที่ไม่สอดคล้องกับโครงการระยะยาว โดยโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นบางแห่ง บริษัทกู้ยืมเงินจากธนาคารซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีครึ่ง และบริษัทมีภาระต้องชำระคืนครั้งเดียวเมื่อครบกำหนด อายุของวงเงินกู้ที่ไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสดจากโครงการระยะยาว ทำให้บริษัทมีภาระต้องชำระคืนเงินกู้ก้อนใหญ่ในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังก่อภาระหนี้ในรูปแบบของหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินเพื่อใช้ลงทุนบางส่วนในธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วย
ปัจจุบัน บริษัทมีภาระจ่ายคืนเงินกู้และหุ้นกู้จำนวน 1,200-1,400 ล้านบาทในปี 2562-2563 และเกือบ 2,200 ล้านบาทในปี 2564 ขณะที่บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 500-1,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างระมัดระวังในช่วงพัฒนาโครงการได้