ตลาดหลักทรัพย์เผย น้ำมันร่วงแรง-สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ทุบหุ้นไทยเดือนพ.ย.ร่วง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า ลงน้อยกว่าเอเชีย วอลุ่มหด 29% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.38 หมื่นล้านบาท ด้านผลตอบแทนเงินปันผล 3.18% ชนะเอเชียเฉลี่ยอยู่ที่ 3.01%
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปิดสิ้นเดือนพ.ย.2561 ที่ 1,641.80 จุด ลดลง 1.6% จากสิ้นเดือนก่อน และลดลง 6.4% จากสิ้นปี 2560 ซึ่งลดลงน้อยกว่าตลาดส่วนใหญ่ในเอเชีย สำหรับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai ในเดือนพ.ย.2561 อยู่ที่ 41,585 ล้านบาท ลดลง 29.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีสถานะซื้อสุทธิในเดือนพ.ย. ขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย 13,881 ล้านบาท
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย.2561 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงจากสิ้นเดือนก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงค่อนข้างรุนแรงในเดือนนี้ ประกอบกับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก แม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งโดยการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศยังคงเติบโตในไตรมาส 3/2561 ส่งผลให้เมื่อเปรียบเทียบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพ.ย.2561 กับสิ้นปี 2560 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดส่วนใหญ่ในเอเชีย
สำหรับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพ.ย.2561 ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนสอดคล้องกับตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียนที่มูลค่าซื้อขายลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้ ในเดือนพ.ย.หุ้นกลุ่มทรัพยากร และกลุ่มธุรกิจการเงินให้ผลตอบแทนมากกว่า SET index ขณะที่ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ระดับ 15.23 เท่า ขณะที่ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.55 เท่าซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.59 เท่า และ 14.47 เท่าตามลำดับ
ด้านอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพ.ย.2561 อยู่ที่ระดับ 3.18% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียที่อยู่ที่ 3.01%
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท ลดลง 5.0% จากสิ้นปี 2560 ตามทิศทางดัชนี
ด้านภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนพ.ย.มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 279,146 สัญญา ซึ่งลดลง 26.5% จากเดือนก่อน โดยทุกตราสารอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขายลดลงจากเดือนก่อน