บล.ภัทร คาด กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. และปีหน้า ปิดช่องว่างส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐ เตือนรับมือเงินทุนไหลออก เศรษฐกิจชะลอโตไม่ถึง 4% เฟดลดแรงกดดันดอกเบี้ย สัญญาณอัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดที่เหมาะสม “บรรยง” วิเคราะห์จุดอ่อนประเทศไทย แก้ไม่ได้ไปต่อยาก หัวใจสำคัญฝากความหวังรัฐบาล
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร บริษัทในเครือกลุ่มธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวในงาน”ล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญอนาคตประเทศไทย” โดยคาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนธ.ค.นี้ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง และปรับขึ้นอีกครั้งในปี 2562 เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ย หากสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จำนวน 3-5 ครั้งใน 12 เดือนข้างหน้า คิดเป็น 0.75-1.25% หรือเฉลี่ย 1% ส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะสั้นสกุลดอลลาร์สหรัฐเข้าใกล้ 3% จะเกิดปัญหาให้เศรษฐกิจทั่วโลกที่พึ่งพาดอลลาร์เริ่มตึงตัว ต้นทุนสูงขึ้น ประเทศเกิดใหม่เริ่มมีประเด็นเงินทุนไหลออก เพราะการลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์จะน่าสนใจ แม้ว่าธนาคารญี่ปุ่นและยุโรปจะยังทำคิวอีอยู่ก็ตาม
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 12 เดือน และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดการเงิน
ขณะที่สหรัฐลดแรงกดดันทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีมุมมองว่า อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดที่เหมาะสม และประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิส กล่าวว่า เฟดไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป มีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทย นายพิพัฒน์ ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ จีดีพีขยายตัว 4.8% แต่ไตรมาส 3 เหลือเพียง 3.3% เฉลี่ย 9 เดือนเติบโต 4.3% คาดว่าปีนี้น่าจะโตได้ 4.2-4.3% แต่โมเมนตัมส่งให้ปีหน้าเติบโตช้าลง จากปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจทุกประเทศหมุนช้าลง ยกเว้นสหรัฐ ส่วนปัจจัยภายในคือ การท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วน 13-15%ของจีดีพี ถ้าไม่เติบโตเลย เศรษฐกิจจะหายไป 1-1%เศษ ส่วนส่งออกมีสัดส่วน 7% ของจีดีพี คาดปีนี้โตไม่ถึง 8-9% จะขยายตัวเพียง 5-6% การบริโภคขยายตัวดีขึ้นจาก 3% เป็น 5% ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ หลังจากโตติดลบมานาน
“เศรษฐกิจปีหน้าไม่ได้แย่มาก แต่ไม่ดีเท่าปีนี้ คาดจะขยายตัว 3.7% จากปีนี้คาดไว้ที่ 4.3% ขณะที่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5-4% จากปัจจัยข้างนอกไม่สวยหรูในปีหน้า ส่วนปี2563 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าไม่เกิดภาวะถดถอย ส่วนปัญหาเรื่องการค้ามีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ความน่าสนใจย้ายฐานการผลิตยังไม่เกิดขึ้น”
นายพิพัฒน์ ส่งสัญญาณเตือนภัย 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1.ราคาสินค้าเกษตรย่ำแย่ ทั้งราคายาง ปาล์ม อ้อยและมันสำปะหลัง แต่ภาพโดยรวมบวกได้เนื่องจากปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 2.จับตาความเคลื่อนไหวของจีน และ 3. การเมืองจะเปลี่ยนผ่านไปได้หรือไม่ ส่วนปัจจัยบวกคือโครงการลงทุนใน EEC แต่กว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี และหากสหรัฐไม่นำเข้าสินค้าจากจีน ไต้หวันจะย้ายฐานการผลิตมาอาเซียนหรือไม่
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธาน บล.ภัทร วิเคราะห์จุดอ่อนประเทศไทย แก้ไม่ได้ไปต่อยาก ในด้านเศรษฐกิจเป้าหมายมี 3 ข้อ คือ มั่งคั่ง แบ่งปันและยั่งยืน โดย มั่งคั่ง คือ รายได้ต่อหัว ไม่ใช่กระจุกเฉพาะกลุ่ม ต้องแบ่งปัน เรื่องความมั่งคั่งประเทศไทยมาได้ครึ่งทางแล้ว แต่การกระจายยังน้อย ประเทศไทยติดอันดับที่การกระจายความมั่งคั่งแย่ อยู่อันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก แม้มีความพยายามเก็บภาษีจากผู้มีรายได้มากให้ได้มากขึ้น เช่นภาษีมรดก 3 ปีที่ผ่านมาเก็บได้ประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนภาษีที่ดิน มีทั้งวิธีเลี่ยงวิธีใช้ดุลยพินิจมากมาย ด้านความยั่งยืน ต้องมีการพัฒนาเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม
“เศรษฐกิจของประเทศไทย ติดกับดักมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เติบโตเพียง 4-5% เท่านั้น ถ้าเทียบกับที่เคยเติบโต 7% โดยเฉลี่ย มา 40 ปี ในช่วงปี 2500-2540 ตอนนี้เติบโตเฉลี่ย 3-4% มาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 10 ปี แม้ว่ามีการอัดฉีดเงินทุกด้าน ยังโตมาได้แค่ 4% อะไรคือปัญหา” นายบรรยงตั้งคำถาม คำตอบคือ ประเทศไทยมีปัญหาเยอะแยะมากมายเกือบทุกด้าน
ส่วนแนวทางการแก้ไข รัฐต้องทำในสิ่งจำเป็น ปล่อยกลไกตลาดทำงาน เมื่อเกิดการผูกขาด มีการแข่งขันน้อยราย รัฐจะต้องทำลายการผูกขาดนั้นถ้าทำได้ ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน เอารัดเอาเปรียบตลาดแล้วทำให้เกิดการบิดเบือน และรัฐจะต้องไม่สร้างการผูกขาดเสียเอง เช่น เปิดประมูลดิวตี้ฟรี แบบผู้บริหารเจ้าเดียว เป็นต้น
นอกจากนี้ในประเทศไทยชัดเจนมาก รัฐบาลใหญ่เกินไปทั้งขนาด บทบาท อำนาจ วิธีการที่ดีที่สุด คือ การลดทั้งขนาด บทบาท และอำนาจของรัฐ ผ่านหน่วยงานของรัฐ ผ่านกฎหมายที่รัฐถืออยู่ และผ่านรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน ประเทศไทยมีกฎหมาย 7 แสนฉบับ ซึ่งแยกเป็นของท้องถิ่น 5 แสนฉบับ ขณะนี้มีความพยายามที่จะยกเลิกกฎหมายเหลือ 1 แสนฉบับ แต่ต้องใช้เวลา ขณะนี้มีหน่วยงานที่บางแห่งเริ่มทำแล้ว เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และกำลังจะทำกับกฎหมายด้านสถาบันการเงิน