ตลท. สั่งแขวนป้าย SP หุ้น WAVE วันนี้ พร้อมขึ้นป้าย CS CB 26 มี.ค.

HoonSmart.com>>ตลาดสั่งแขวนป้าย SP หุ้น “เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล”(WAVE) 25 มี.ค. 68 เป็นเวลา 1 วัน และจะขึ้น  CS CB ใน 26 มี.ค.68  ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นงบปี 67 บริษัท ขาดทุนสุทธิ 3 ปีซ้อน ส่วนของผู้ถือหุ้น <100% ด้าน WAVE ชี้แจงผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น เกิดจากธุรกิจคาร์บอนเครดิตเป็น New S-Curve ยังไม่มีราคาตลาด ต้องใช้อัตรา ของกฟน.อ้างอิงเกิดด้อยค่าพุ่งขึ้นทำขาดทุน 1,069 ล้านบาท แต่หากไม่รวมเผยกำไร 6 แสนบาท ปี 68 ปรับโมเดธุรกิจครั้งใหญ่ 

ตลาดหลักทรัพย์ ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้นบริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล (WAVE) ในวันที่ 25 มี.ค. 2568 และกำหนดปลดเครื่องหมาย SP ใน 26 มี.ค. 2568 เนื่องจากบริษัทได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2567 มายังตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้

พร้อมขึ้นเครื่องหมาย CS หุ้น WAVE ในวันที่ 26 มี.ค.2568 เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น/ไม่ให้ข้อสรุปสำหรับงบการเงิน ประจำปี  2567 อีกทั้งขึ้นเครื่องหมาย CB  เนื่องจากผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 3 ปีติดต่อกันจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น < 100% ของทุนชำระแล้ว

ทั้งนี้ หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมายข้างต้น จะต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance ( สมาชิกต้องให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์นั้น) ตั้งแต่วันที่ขึ้นเครื่องหมายเป็นต้นไป จนกว่าจะแก้เหตุดังกล่าวได

WAVE ชี้แจงว่าการที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทฯ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหารหรือผิดมาตรฐานการบัญชี แต่เกิดจากธุรกิจคาร์บอนเครดิต เป็น New S-Curve ยังไม่มีราคาตลาด เพื่อใช้ในการอ้างอิง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่ดำเนินการในรูปแบบ Over-theCounter (OTC) ซึ่งเป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านการเจรจาและตกลงกันเอง โดยไม่มีตลาดกลางที่เป็นทางการเพื่อรองรับการซื้อขาย

เดิมบริษัทได้มีการว่าจ้างผู้ประเมินอิสระในการประเมินใบรับรองพลังงานหมุนเวียนที่บริษัทถือครอง ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นสากลในการกำหนดราคาเพื่อใช้ในการอ้างอิงในช่วงที่ตลาดไม่สมบูรณ์เพิ่มเติม โดยมีสมมติฐานจาก อัตราภาษีคาร์บอน(Carbon Tax) ตามกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ จึงทำให้ต้องใช้ราคาอัตราค่าไฟฟ้าพลังงานสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff: UGT1)ที่การไฟฟ้านครหลวง ประกาศเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงของใบรับรองพลังานหมุนเวียนของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ในอนาคต

ทั้งนี้ WAVE รายงานผลดำเนินงานปี 2567 ขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ 774.21 ล้านบาท ขาดทุนหุ้นละ 0.074 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2566 ที่ขาดทุน 17.46 ล้านบาท  หรือ 0.002 บาทต่อหุ้น

ด้านนายถิรพงศ์ คําเรืองฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเวฟ เอกซ์โพเนนเชียล กล่าวว่า แผนการดำเนินงานปี 2568 บริษัทฯ ได้ปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อขยายสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเติบโต โดยบริษัท เวฟ เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจการศึกษา ได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจสู่การเปิดสถาบันสอนภาษาจีนแมนดาริน “Let’s Mandarin” จากเดิมที่มีสถาบันสอนภาษาอังกฤษ “Wall Street English” ส่วนบริษัท เวฟ บีซีจี  ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการ Climate Solution ครบวงจร และเป็นหนึ่งในผู้ถือครองใบรับรองพลังงานหมุนเวียน I-REC(E) รายใหญ่ที่สุดในประเทศ เตรียมนำใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) มาเป็นสินทรัพย์หรือโครงการอ้างอิงสำหรับการออกโทเคนดิจิทัลในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงในระยะยาว

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการ 468.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.77 ล้านบาท อัตราเติบโต 4% จากปี  2566 โดยมีรายได้จาก 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจด้านการศึกษา และธุรกิจคาร์บอนเครดิตครบวงจร ซึ่งรวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจต่างๆ บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 30 – 40% ภายในปี 2573 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตลอดจนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ต่อองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจ New S-Curve โดยดำเนินธุรกิจคาร์บอนเครดิตครบวงจรที่มีการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน หรือ “I-REC(E)” ภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นการเจรจาและตกลงกันเองแบบ Over-the-Counter (OTC) จึงไม่สามารถหาราคาตลาดได้ ดังนั้นในการพิจารณามูลค่าสุทธิของใบรับรองพลังงานหมุนเวียน จึงต้องใช้ราคา Utility Green Tariff (“UGT1”) ตามประกาศของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 มีผลให้มูลค่าของใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ต่ำกว่าราคาตามบัญชีอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2567 มีใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมอยู่ในสินค้าคงเหลือในงบการเงินรวมของกลุ่มบริษัทฯ ทั้งสิ้น 1,065.67 ล้านบาท และกลุ่มบริษัทฯ ได้ชำระเงินล่วงหน้าสำหรับใบรับรองพลังงานหมุนเวียนในอนาคตตามสัญญา จึงต้องบันทึกค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุน และบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 1,069.44 ล้านบาท แต่หากไม่รวมผลกระทบจากรายการพิเศษ บริษัทฯ จะยังมีกำไรทั้งสิ้น 0.60 ล้านบาท

บริษัทฯ ให้ความมั่นใจว่า เวฟ บีซีจี เป็นบริษัทย่อยที่มีศักยภาพเติบโตสอดรับกับเมกะเทรนด์โลก โดยเฉพาะใบรับรองพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาคาร์บอนเครดิตในรูปแบบต่างๆ หลังจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวและปฏิบัติตามมากขึ้นในอนาคตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ประกอบกับประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยวางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 จึงคาดการณ์ว่าความต้องการใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) ในปี 2573 มากถึง 70,101,000 RECs (อ้างอิงบริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย)) และราคาใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs )ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 11-60% ต่อปี ภายในปี 2567 – 2573