บลจ.โซลาริส ขาดทุนซ้ำซาก 8 ปีก่อนจะเริ่มมีกำไรในปี 2557 จากการเห็นโอกาสทำเงินจากตลาดบี/อี บุกหนักจนหนีไม่ทันฟองสบู่แตก
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)โซลาริส เผชิญภาวะวิกฤตครั้งนี้ สาหัสเอาการ แต่ใช่ว่าที่ผ่านมาจะสุขสบาย บริษัทล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยชื่อ บลจ.ซีมิโก้ เมื่อปี 2549 ด้วยทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท และเพิ่มทุนเป็น 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการเปิดดำเนินธุรกิจ การจัดการกองทุนรวม และการจัดการกองทุนส่วนบุคคลในปี 2550
บลจ.ซีมิโก้ ประสบปัญหาการขาดทุนมานานถึง 8 ปีติดต่อกัน โดยเฉพาะปี 2554 มีส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือเพียง 20.78 ล้านบาท ยอดขาดทุนสะสมถึง 131 ล้านบาท ขณะที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 152 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องเพิ่มทุนในปี 2555 และเปลี่ยนชื่อเป็น บลจ.โซลาริส แต่ก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ไหว ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดต้องตัดสินใจลดทุนจดทะเบียนจำนวน 86.40 ล้านบาทในปี 2556 เพื่อลดขาดทุนสะสม ที่มีอยู่มากถึง 159 ล้านบาท ให้ลงมาเหลือ 89 ล้านบาท
บริษัท ตัดสินใจเพิ่มทุนอีกครั้ง จำนวน 9.9 ล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นจังหวะเหมาะที่ตลาดตั๋วแลกเงินหรือบี/อี เริ่มเปิด บลจ.โซลาริสมองเห็นเป็นโอกาส กระโดดเข้าสู่สังเวียนนี้เป็นเจ้าแรก ๆ ซึ่งผลที่ได้รับก็คุ้มค่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 14.44 ล้านบาทเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการกระโดดจากปีก่อนหน้าทำได้เพียง 14 ล้านบาท เพิ่มเป็น 56 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านบาท เป็น 57 ล้านบาทอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ท้องฟ้าสดใสยิ่งขึ้นในปี 2558 ตลาดบี/อีฮอตปรอทแตก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งไหนไม่ออกบี/อีถือว่าเชยแหลก เพราะออกง่ายมากๆ ไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และสามารถต่ออายุตั๋วไปได้ตลอด มีกำลังซื้อมหาศาลจากนักลงทุน และบริษัทจดทะเบียนด้วยกันเอง ท่ามกลางการคุมเข้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์
ตั๋วบี/อีฮอต เพราะให้ผลตอบแทนสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในหุ้นกู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเพียง 4-5 % ต่อปี ส่งผลให้ตลาดบี/อีบวมทะลุ 1 แสนล้านบาทไปอย่างรวดเร็ว
บลจ. โซลาริส เป็นผู้นำตลาด สามารถหาบริษัทจดทะเบียนมาออกตั๋วและเสนอขายนักลงทุนในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ บริษัทไหนมีความเสี่ยงมากหน่อยก็เสนอดอกเบี้ยสูงหน่อย สมประโยชน์กันทุกฝ่าย ส่งผลให้กำไรของบลจ.โซลาริช โตแบบก้าวกระโดดขึ้นกว่าเท่าตัว โกยเงินเข้ากระเป๋าไปเนาะๆ 36.69 ล้านบาทในปี 2558
ตลาดใดที่โตแรงและเร็วผิดปกติ ย่อมเกิดความเสี่ยงขึ้นมา บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งหลงระเริง นำเงินไปใช้ผิดทาง ระดมเงินระยะสั้นนำไปลงทุนระยะยาว ไปซื้อหรือลงทุนในธุรกิจ ในสินทรัพย์ที่ไม่ถนัด เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจาก บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ดีๆ กลับนำเงินก้อนโตไปซื้อโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เมื่อผสมโรงกับแรงทิ้งหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ กดดันราคาหุ้น IFEC ไหลจู๊ดอย่างรวดเร็ว นับเป็นต้นตอให้ตลาดบี/อีเริ่มปริและล้มเป็นโดมิโนในบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง
บลจ.โซลาริส ในฐานะเจ้าฝูง ก็ต้องยอมรับสภาพ ผลงานลดลง แต่ก็ยังมีกำไรสุทธิ 11 ล้านบาทในปี 2559
แต่เมื่อตลาดบี/อีแตกดังโพละ ผลกระทบเต็มเปาจึงเกิดขึ้นกับบลจ.โซลาริช อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผู้นำตั๋วบี/อีไปเสนอขายให้กับนักลงทุนจำนวนมาก บริษัทที่ออกหลายแห่งก็ประสบปัญหาอย่างรุนแรง ทำให้โซลาริสขาดทุนอย่างหนัก เมื่อรวมกับตัวเลขขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นมานาน จึงไม่แปลกใจที่ความเสียหายครั้งนี้จะกินลึกถึงเงินกองทุน ติดลบ 25 ล้านบาท ต่ำกว่าระดับเตือนภัยที่กำหนดไว้ 30 ล้านบาท เป็นหนทางให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องเข้ามาควบคุมการแก้ปัญหาของบลจ.โซลาริส ที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ลงทุนในตั๋วบี/อี หลายคนนำเงินออมก้อนสุดท้ายมาลงทุน ปัญหาของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ออกตั๋วมาขาย ยังไม่พบทางออก สร้างความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
ทั้งนี้ ได้แต่หวังว่าทางก.ล.ต.จะดูแลให้บลจ.โซลาริชแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ อย่าปล่อยให้เลี้ยงไข้ไปนานๆ เพราะอาจจะทำให้ตลาดทุนโดยรวมขาดความเชื่อมั่น ต่อการออมและการลงทุนผ่านอุตสาหกรรมกองทุนรวมในระยะยาว ก็เป็นไปได้สูง
พรุ่งนี้จะเปิดต้นเหตุที่ทำให้บลจ.โซลาริสขาดทุนเรื้อรัง