HoonSmart.com>>กระทรวงสาธารณสุขจับมือ ส.อ.ท. ผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ หวังเพิ่มมูลค่ากว่า 6.9 แสนล้านบาทในปี 2568
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประชุมหารือเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ รวมถึงการแก้ไขอุปสรรคด้านกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามให้เกิดการลงทุนและขยายตลาดในประเทศ
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ(Medical & Wellness Hub) ผ่าน 7 มาตรการสำคัญ โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.9 แสนล้านบาทในปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ
ทั้งในด้านการอนุมัติผลิตภัณฑ์ การผลิต การนำเข้า การจำหน่าย และการโฆษณา โดยเฉพาะการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาให้มีความรวดเร็วมากขึ้น
การให้คำปรึกษาด้านกฎระเบียบ การฝึกอบรม การผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผลิตในประเทศเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และบัญชีนวัตกรรมเพื่อการจัดซื้อของภาครัฐ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งได้รับแรงหนุนจากกระแสสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง
ดังนั้น การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคภายในประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม
“ส.อ.ท. ได้จัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ซึ่งครอบคลุม 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยา อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องมือแพทย์ สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เป้าหมายคือการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ผ่าน 4 นโยบายหลัก ได้แก่ การสร้างเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม การยกระดับสู่อุตสาหกรรมใหม่ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อภาคธุรกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ ส.อ.ท. และกระทรวงสาธารณสุขยังได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่
1. การพัฒนา Medical & Wellness Hub เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.9 แสนล้านบาทในปี 2568
2. การพัฒนาความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ใน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ
3. การจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมสุขภาพ เพื่อติดตามแนวโน้มและศักยภาพของอุตสาหกรรมในอนาคต
สำหรับ ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพของไทย ให้สามารถแข่งขันในระดับสากลและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว