BTS : กสิกรให้แค่’ถือ’ ดีบีเอสฯแนะ’ซื้อ’

บีทีเอสพบนักวิเคราะห์ ยันไม่เพิ่มทุน โครงการลงทุนมาก กระแสเงินสดจากการเก็บรายได้โครงการในอนาคต ขายหุ้นกู้ บล.กสิกรไทยมีมุมมองระดระวังโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน สวนบล.ดีบีเอสฯมองระยะยาว 3 ปี รายได้โตจากสายสีเขียว เหลือง-ชมพู เข้ามามาก แต่กำไรลด

บล.กสิกรไทย แนะนำ “ถือ” หุ้น BTS ราคาเป้าหมาย 10.10 บาท/หุ้น จากการเข้าร่วมการประชุมนักวิเคราะห์ วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา หลักๆเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่ม BSR (BTS ถือ 60%, STEC ถือ 20%, และ RATCH ถือ 20%) เข้าร่วมการประมูล โดยผู้บริหารยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน บริษัทฯมีกระแสเงินสดจากโครงการในอนาคตที่กำลังจะเริ่มดำเนินการจะมาชดเชยได้ไม่ว่าจะเป็นสายสีเขียวต่อขยายที่จะเปิดดำเนินการปลายปี 2561 – ปี 2562

นอกจากนี้แม้ว่ากลุ่ม BSR จะมีเพียง 3 ราย แต่ผู้บริหารกล่าวว่ามีพันธมิตรอีกราว 20 รายที่จะคอยสนับสนุนทั้งกลุ่มธนาคาร และผู้รับเหมาฯ หาก BSR เป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมองระมัดระวังต่อโครงการนี้ เนื่องจากใช้เงินทุนค่อนข้างสูงและเป็นโครงการแรกเริ่มที่ความคุ้มทุนยังไม่แน่ชัด

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) แนะนำซื้อ BTS ให้ราคาเป้าหมาย 11 บาท จากนี้ไปใน 3 ปี แนวโน้มงบการเงินคือ รายได้มาก แต่อัตรากำไรสุทธิลดลง เพราะรายได้สายสีเขียว เหลือง-ชมพู เข้ามามาก แต่มาร์จิ้นน้อย ด้านจำนวนผู้โดยสารในงวดครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เพราะไม่มีเหตุการณ์หยุดเดินรถเหมือนครึ่งปีแรก ที่ถูกรบกวนด้านคลื่นความถี่

การประมูลไฮสปีดเทรน เชื่อมสามสนามบินไปอย่างรวดเร็ว ระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่คือ BTS กับ BEM ได้ผ่านคุณสมบัติทั้งคู่ อีก 3 สัปดาห์จะพิจารณาคุณสมบัติทางเทคนิค หากผ่านก็จะเปิดซองราคา และลงนามในสัญญาต้นปี 2562 อาจมีความสงสัยเรื่องนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมีน้อย แต่บริษัทปฏิเสธว่า ผู้โดยสารไม่ได้พึ่งพิงนักท่องเที่ยวโดยตรง แต่เน้นผู้เดินทางจริงๆ ปัจจุบันเส้นทางไปภาคตะวันออก คือ มอเตอร์เวย์มีผู้ใช้บริการมาก ราว 6 แสนเที่ยวคนต่อวัน และปัจจุบันภาคตะวันออกมี GDP เติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯ แต่จำนวนเงินเป็นอันดับ 2

ขณะเดียวกันผู้ประมูลชนะจะได้บริหารที่ดินมักกะสันจำนวน 128 ไร่ ยาวนานถึง 50 ปี เหมาะกับการทำ Mix Use จุดเด่นคือ ผืนที่ดินใหญ่ อยู่กลางใจเมือง และมีโลจิสติกส์ที่ดี ทั้งทางด่วน และรถไฟฟ้าในอนาคต

ส่วนเรื่องการจัดหาเงิน เนื่องจากมีช่วงเวลาเหลื่อม และบริษัทจะมีกระแสเงินสดเพิ่มจากโครงการที่จะให้รายได้คือ บริหารเดินรถสายสีเขียว เหนือ-ใต้ ปีถัดมาคือ ชมพู-เหลือง ใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี ตกปีละ 6,000 ล้านบาท BTS คาดว่าจะใช้เงินกู้ควบคู่ไปด้วย ก็จะมีเงินทุนพอเพียงได้

ด้านโครงการร่วมทุนกับ กทม. สายสีเขียวส่วนขยายเป็นการแบ่งรายได้นั้น ยังไม่ได้มีรายละเอียดว่าจะรับหนี้มา 1 แสนล้านบาท และการลดค่าโดยสารยังต้องเจรจากันอีก โดยมีกำหนดการเส้นตายราวมี.ค.62 ที่จะต้องเริ่มเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวใต้ครั้งแรก (เริ่มทดลองวิ่งต้น ธ.ค.2561 แต่ยังไม่เก็บค่าโดยสารไป 3 เดือน)