กลต.กล่าวโทษ 17 บิ๊ก EARTH ปั้นหนี้เทียม ฟ้อง11 ราย อินไซด์

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ กับพวกรวม 17 ราย กรณีสร้างหนี้เทียม 26,000 ล้านบาท ฟ้อง 11 ราย อินไซด์ขายหุ้น ค่าปรับ-เรียกเงินคืนรวม 183 ล้านบาท ส่งเรื่องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต. )กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) กับพวกรวม 17 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันสร้างหนี้เทียม เพื่อให้ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งเบียดบังเอาทรัพย์สินของ EARTH เป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และแจ้งพนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำผิด 11 ราย กรณีใช้ข้อมูลภายในขายหลักทรัพย์(อินไซด์เดอร์เทรดดิ้ง) EARTH

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนหลายราย เกี่ยวกับหนี้สินจำนวน 26,000 ล้านบาท ของ EARTH ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่บริษัทส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1 /2560 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้สินนี้เป็นเหตุให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 10,349 ล้านบาท เป็นติดลบ 15,651 ล้านบาท และคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เมื่อเดือนก.ค. 2560 ก.ล.ต. จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความมีอยู่และสถานะของหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 26,000 ล้านบาท ซึ่งต่อมาในวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษกรรมการ EARTH รวม 11 ราย กรณีลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในเอกสารเกี่ยวกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจำนวนดังกล่าว

นอกจากการกล่าวโทษเมื่อเดือนมิ.ย. 2561 แล้ว ก.ล.ต.ได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด และพบว่า ในช่วงปี 2560 กรรมการและผู้บริหารหลักของ EARTH 7 รายประกอบด้วย (1) นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ (2) นายขจรพงศ์ คำดี (3) นายธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ (4) นายพิรุฬห์ พิหเคนทร์ (5) นายพิพรรธ พิหเคนทร์ (6) นายพิบูล พิหเคนทร์ และ (7) นางสาวกาญจนา จักรวิจิตโสภณ และกลุ่มเจ้าหนี้และผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้ 10 ราย ได้แก่ (8) บริษัท เทียนจิน โบไท จงซิง เทรดดิ้ง จำกัด (9) บริษัท เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง จำกัด (10) นายหลิน ตง ไห่ (11) บริษัท อมาเซน พีทีอี จำกัด (12) บริษัท มาร์โค โปโล เวนเจอร์ จำกัด (13) บริษัท นโปเลียน โลจิสติกส์ จำกัด (14) นายเรืองยศ มหาวรมากร (15) นายสามารถ สุวัชรชัย (16) นางสาวณัฎฐา แซ่ลี้ และ (17) นายอำนาจ ตันกุริมาน ได้ร่วมกันดำเนินการ หรือมีส่วนรู้เห็นยินยอม และสนับสนุนการกระทำผิดในการสร้างหนี้เทียม

สำหรับรายละเอียดของหนี้เทียม เริ่มจากอดีตกรรมการและผู้บริหารของ EARTH แกล้งให้ EARTH เป็นหนี้ เพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยมูลหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง จากการที่เจ้าหนี้คู่ค้าหลายรายเรียกร้องค่าเสียหายและค่าเสียโอกาส รวมทั้งฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งกับ EARTH ในมูลหนี้ที่สูงเกินความเป็นจริงมากโดยไม่สมเหตุสมผล เพื่อให้ EARTH อยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นหลายรายมีความเห็นหรืออยู่ในวิสัยที่ทราบว่าหนี้ดังกล่าวไม่สามารถบันทึกบัญชีเป็นหนี้สินในงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีกำหนดได้ รวมทั้งยังพบหลักฐานการนำทรัพย์สินของ EARTH ออกจากบริษัท เพื่อให้เจ้าหนี้นำไปใช้ในการดำเนินการทางกฎหมายกับ EARTH การกระทำดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำการไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้

ในช่วงเวลาดังกล่าว EARTH กับเจ้าหนี้บางรายได้ร่วมกันทำธุรกรรมต่าง ๆ หลายรายการ ซึ่งมีผลเป็นการนำทรัพย์สินออกจาก EARTH ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการปกติ ไม่มีความสมเหตุสมผล และเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าหนี้บางรายเป็นกรณีพิเศษ การกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของ EARTH เพื่อประโยชน์ของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ EARTH เสียหาย

ทั้งนี้ การกระทำตามรายละเอียดข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 308 มาตรา 310 และมาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 17 รายข้างต้นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และการถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี

ในการนี้ ผู้ถือหุ้นและ/หรือเจ้าหนี้ของ EARTH ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำข้างต้นสามารถเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะผู้เสียหายโดยตรง เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวท่านและของบริษัทต่อไป

ทางด้านคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง ยังมีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิด 11 ราย ประกอบด้วย (1) นายขจรพงศ์ คำดี (2) นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ (3) นายพิพรรธ พิหเคนทร์ (4) นางธัญกมล ตริตระการ (5) นางธนภร พงศ์ธิติ (6) นายพิริยะ พิหเคนทร์ (7) นายพัชวัฏ คุณชยางกูร (8) นายจิตตเกษม คุณชยางกูร (9) นายเกษมสัณห์ คุณชยางกูร (10) นางลักขณา จันทร์เต็ม และ (11) นางสาวสุภาภรณ์ สายคำ กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหลักทรัพย์ EARTH จากการที่ทราบว่า EARTH จะขาดสภาพคล่องและสถาบันการเงินปฏิเสธการขอขยายเวลาการชำระหนี้ โดยให้บุคคลทั้ง 11 ราย ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมถึงกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด แต่โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้น ก.ล.ต. ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีบุคคลทั้ง 11 รายต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมาย

โดย ก.ล.ต. จะขอให้ศาลกำหนดชำระเงินค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวม 183,268,831.70 บาท และห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 11 ราย ไม่ให้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 5 ปี และห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 11 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 10 ปี รวมทั้งให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. รายละ 18,900.45 บาท

พร้อมนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการทั้ง 2 กรณีข้างต้นไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อด้วย

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ