HoonSmart.com>>แบงก์ชาติคาดไตรมาส 1 ปี’68 ภาคการผลิตและส่งออก บริการ ยังขยายตัว ด้านกำลังซื้อทรงตัวเหตุประชาชนรัดเข็มขัดลดการใช้จ่ายไม่จำเป็น จับตานโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านเดือนธ.ค.67 ที่ผ่านมาชะลอตัว
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุ แนวโน้มธุรกิจโดยรวมในไตรมาส 1 ปี 2568 ขยายตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากธุรกิจภาคการผลิตและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ มองว่า การผลิตและการส่งออกจะขยายตัว จากอาหารและบรรจุภัณฑ์ ตามอุปสงค์ในและต่างประเทศในกลุ่มทูน่ากระป๋อง ไก่แช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงเครื่องปรับอากาศที่ส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ อาทิ แอฟริกา และ Hard Disk Drive ตามการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Data Storage
อย่างไรก็ดี ธุรกิจผลิตรถยนต์ยังหดตัวจากรายได้ผู้ซื้อที่ฟื้นช้า คุณภาพหนี้แย่ลง สถาบันการเงินจึงระมัดระวังการให้สินเชื่อ และการแข่งขันจากธุรกิจต่างชาติ
สำหรับ ธุรกิจบริการ ในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยส่งผลดีกับธุรกิจโรงแรม และธุรกิจสายการบินมีแนวโน้มเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน โดยเฉพาะเส้นทางเอเชีย
ขณะที่ กลุ่มการค้าทรงตัว โดยผู้มีรายได้สูงและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า Luxury / Premium ขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยระมัดระวงการใช้จ่ายและเลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่ามากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นลง
ด้านกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง ตามรายได้ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มปานกลาง-น้อย รวมถึงเริ่มเห็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อ จึงส่งผลต่อเนื่องไปยังสภาพคล่องของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลาง-เล็ก และผู้รับเหมาก่อสร้าง
แนวโน้มระยะถัดไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง
ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1) ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก และ 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
สำหรับ ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขนส่งสินค้า ปรับลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว
อย่างไรก็ตาม รายรับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะไกลที่เพิ่มขึ้น ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยในเกือบทุกหมวดหลัก ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทนที่ชะลอลง หลังจากที่เร่งไปในช่วงแรกของมาตรการเงินโอนภาครัฐ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อนทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ
ขณะที่ ไตรมาส 4 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นตามแรงขับเคลื่อนของกิจกรรมในภาคบริการและรายรับภาคการท่องเที่ยว ด้านการส่งออกสินค้าอยู่ในระดับสูง โดยทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอนภาครัฐ แม้ยอดขายยานยนต์หดตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากหมวดยานพาหนะและหมวดก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นสำคัญ
https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/thai-economy/state-of-thai-economy/monthly-report/macro-2567-12-slides.pdf