โบรกฯ เปิดสถิติหุ้นถูกคำนวณดัชนี MSCI แจกผลตอบแทนเฉลี่ย 7-10% ก่อนวันเข้าคำนวณดัชนี แนะเก็งกำไร GULF-MTC “โนมูระ พัฒนสิน” MSCI ปรับเปลี่ยนหุ้นรอบใหม่เม็ดเงินสะพัด 150 ล้านเหรียญฯ ชี้รอบ 3 ปีไทยถูกเพิ่มน้ำหนัก
บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส ระบุว่า เช้าวันนี้ MSCI รายงานมีหุ้นในแถบเอเชียถูกคัดเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard รอบ พ.ย.61 ทั้งหมด 28 บริษัท (มีผลบังคับใช้วันที่ 3 ธ.ค. 61) สูงสุดเป็นหุ้นจีน 12 บริษัท ซึ่งน้อยกว่ารอบ พ.ค.61 เข้าถึง 302 บริษัท ส่วนไทยเข้า 2 บริษัท คือ GULF, MTC ในทางกลับกันมีหุ้นถูกคัดออกมี 34 บริษัท แต่รอบนี้ไม่มีหุ้นไทยถูกคัดออก
ส่วนดัชนี MSCI Global Small Cap มีหุ้นในแถบเอเชียถูกคัดเข้าคำนวณทั้งหมด 129 บริษัท เป็นหุ้นญี่ปุ่นมากสุด 35 บริษัท, ไทย 3 บริษัท คือ CBG, MBK และ PRINC ส่วนหุ้นถูกคัดออกทั้งหมดมีสูงถึง 246 บริษัท เป็นหุ้นจีนมากสุด 57 บริษัท และหุ้นไทยออก 6 บริษัท คือ CCET, DDD, ICHI, MONO, MTC และ VNG รายละเอียดดังตาราง
สำหรับ MTC ถูกเลื่อนขั้นดัชนีจากดัชนี MSCI Global Small Cap มาอยู่ใน MSCI Global Standard แทน เนื่องจากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น MTC ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 26.6% จนมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ขยับขึ้นมาถึง 1.06 แสนล้านบาท (จาก 8.3 หมื่นล้านบาท) ส่วน GULF เริ่มเข้าตลาดฯ มา ณ วันที่ 7 ธ.ค. 61 และล่าสุดมี Market Cap. สูงถึง 1.67 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 21 ของหุ้นใน SET Index จึงถูกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard อีกทั้งยังมีโอกาสเข้าทั้ง SET50 และ SET100 ในรอบใหม่ (1H62) สูง
แม้ราคาหุ้นส่วนใหญ่ที่ถูกคัดเข้าจะใกล้กับมูลค่าพื้นฐานแล้ว รวมถึงมีหุ้นหลายบริษัทที่ฝ่ายวิจัยฯไม่ได้ทำการศึกษา อย่างไรก็ตามจากการศึกษาสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ราคาหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ประกาศจนถึงวันที่มีผลบังคับใช้ โดยหุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณ ดัชนี MSCI Global Standard ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 5.2% และมีความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 74% ส่วนหุ้นที่ถูกคัดออก แนะนำหลีกเลี่ยง
หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Small Cap มักให้ผลตอบแทนเฉลี่ยน้อยกว่า อยู่ที่ 1.9% โอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวก 57% อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวนักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้น สังเกตได้จากหุ้นที่ถูกคัดเข้าดัชนี MSCI Global Small Cap ใน 4 ครั้งหลังสุด ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 4.0% และให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 70%
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำเก็งกำไรหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard อย่าง GULF, MTC ในวันที่ประกาศ และขายทำกำไรในวันที่มีผลบังคับใช้ (3 ธ.ค. 61) น่าจะ Outperform ได้ดียามที่ตลาดถูกกดดันจากปัจจัยภายนอก และราคาน้ำมันที่ลดลง
ด้านบล.กสิกรไทย ระบุว่า สถิติที่ผ่านมาหุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณจะให้ผลตอบดีนับตั้งแต่วันประกาศเรื่อยไปจนถึงวันเข้าที่เริ่มมีจริงคือ 30 พ.ย.61 เสมอ โดย MTC Upside เหลือกว่า 10% จากมูลค่าพื้นฐาน 55 บาท
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองว่าหุ้น GULF และ MTC เป็นหุ้นที่ราคาขึ้นมาได้ด้วยการเติบโตของกำไรโดยตรง รวมทั้งธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มดีทั้งคู่ สำหรับ GULF ราคาที่เหมาะสม 80 มีการเติบโตจากโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ในต่างประเทศ (เวียดนาม. โอมาน) ราคายังมี Upside จากปัจจุบันได้อีก เช่นเดียวกับ MTC ที่ผลการดำเนินงานยังออกมาดี โดยบล.เคทีบี คาดกำไรปีนี้ โต 49% และ 30% ในปีหน้า โดยปกติแล้ว เวลามีการประกาศผลออกมา มักจะมีการขายทำกำไรช่วงสั้นเข้ามา แต่ด้วยปัจจัยเชิงบวกของหุ้น เราจึงแนะนำเป็น “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” ทั้ง GULF และ MTC
บล.โนมูระ พัฒนสิน มองกรณี MSCI Rebalance ประกาศปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไทยขึ้น 1.45 bps สู่ 2.20% โดยจะมีกระแสเงิน Rebalance ในไทยสูงราว 150 ล้านเหรียญฯ และเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ที่ไทยถูกเพิ่มน้ำหนัก โดยการประกาศหุ้นเข้า/ออก ในการคำนวณดัชนี ดังนี้ MSCI Global Standard หุ้นที่เข้าคำนวณ GULF 47 ล้านเหรียญฯ , MTC 45ล้านเหรียญฯ และจากสถิติหุ้นถูกเข้าคำนวณดัชนีจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7-10% ก่อนเข้าจริง
สำหรับหุ้น MTC ราคาเหมาะสมที่ 57 บาท คิดเป็น Implied PBV ที่ 6.3 เท่า discount จากค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 8.4 เท่า เนื่องจากมีการเติบโตต่ำกว่าอดีต อย่างไรก็ตามราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่เพียง 6.5 เท่า มองว่าเป็นจุดที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน คาดแนวโน้มกำไรปี 2561-2562 เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 35% โดย MTC ยังควบคุมคุณภาพพอร์ตได้ดี NPL Ratio ต่ำเพียง 1.26% และ Coverage ratio สูง 259% สะท้อนการตั้งสำรอง Conservative
ส่วน GULF คงคำแนะนำซื้อเช่นกัน โดยปรับเป้าหมายราคาปี 2562 อยู่ที่ 86.30 บาท/หุ้น จากการปรับประมาณการกำไรปกติปี 2561 และ คาดการณ์ปี 2562 ลงสะท้อนการรวมโครงการเวียดนามเข้ามา โดยในระยะสั้นมองประเด็นแนวโน้มกำไร 4Q18F อาจได้รับผลกระทบเงินบาทอ่อนค่าอาจไม่ใช่แรงกดดันสำคัญ และในระยะยาว GULF มีความน่าสนใจจากธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต จากการ COD โรงไฟฟ้าเพิ่ม (equity MW เพิ่มขึ้นอีกราว 2 เท่าตัว) รวมถึงยังมี upside จากการลงทุนใน Oman ขณะที่กำไรสุทธิ 3Q18 ออกมาใกล้เคียงกับที่คาด