HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสินเชื่อระบบแบงก์ปี 68 ฟื้นเล็กน้อยโต 0.6% นำโดยสินเชื่อธุรกิจบวก 1.5% มีการเบิกเงินใช้ลงทุน สินเชื่อรายย่อยยังคงลดลง 1% ดีกว่าปีนี้ที่หดตัว 2% อ่อนแอทุกผลิตภัณฑ์ คาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ติดลบเป็นตัวเลขสองหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อระบบแบงก์ไทย ปี 2568 เติบโตในระดับต่ำที่ 0.6% ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวในกรอบจำกัด ฟื้นตัวอย่างช้าๆจากปีนี้ที่มีโอกาสหดตัวประมาณ -1.8% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 ปีตั้งแต่ปี 2553 สะท้อนการปรับตัวที่เกิดขึ้นทั้งในฝั่งผู้กู้และสถาบันการเงินในยุคหลังโควิด-19
“สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยอาจหดตัวลงในปี 2567 สอดคล้องกับสัญญาณฟื้นตัวช้าของภาพรวมเศรษฐกิจไทย ส่วนปี 2568 สินเชื่อธุรกิจอาจกลับมาเติบโตที่ 1.5% จากที่หดตัวลงตลอดช่วงปี 2565-2567 ตามบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐที่น่าจะดีขึ้น แต่สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สินเชื่อรายย่อยอาจหดตัวต่อเนื่องประมาณ 1% เนื่องจากกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดของรายได้ในภาคครัวเรือนและภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิมซึ่งยังมีผลกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ส่วนยอดคงค้างของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยมีโอกาสปิดสิ้นปี 2567 ในระดับต่ำกว่าสิ้นปี 2566 หรือหดตัวลงประมาณ 1.8%มีนัยสะท้อนการปรับตัวทั้งจาก “ฝั่งผู้กู้” และ “ฝั่งสถาบันการเงิน” ในช่วงหลังโควิด-19 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้กู้ โดยเฉพาะภาครัฐและผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ มีการบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อทยอยชำระคืนหนี้และใช้ความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่ ขณะที่สถาบันการเงินก็รักษาความสมดุลในการดูแลความเสี่ยงด้านเครดิตสำหรับการให้สินเชื่อใหม่ เร่งปรับโครงสร้างเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เดิมและจัดการกับปัญหาสินเชือที่ด้อยคุณภาพหรือ NPLs ไปพร้อมกัน
แรงส่งต่อสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทยจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยเริ่มทยอยถดถอยลงตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 โดยแรงฉุดหลักๆ ของสินเชื่อธุรกิจมาจากการชำระคืนสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และการลดลงอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งปรับตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้กู้ที่มีความอ่อนไหวต่อสัญญาณฟื้นตัวล่าช้าของภาวะเศรษฐกิจและกลุ่มอุตสาหกรรม
ขณะที่สินเชื่อรายย่อยมีภาพอ่อนแอลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับ Big-Ticket Items ของครัวเรือน ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่หดตัวลงตามภาวะซบเซาของตลาดรถยนต์ใหม่และการทรุดตัวลงของราคารถมือสอง (มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปิดสิ้นปี 2567 ในอัตราติดลบเป็นตัวเลขสองหลัก) และสินเชื่อบ้านที่ชะลอตัวลงในหลาย Segment ตามข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและรายได้ของผู้กู้ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ของสถาบันการเงิน ขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (PLoans) หดตัวลงท่ามกลางสัญญาณของปัญหา NPLs ที่เพิ่มสูงขึ้น
“ในปี2568 สินเชื่อรวมอาจเติบโตต่ำที่ประมาณ 0.6% แม้จะดีขึ้นเทียบกับที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 2567 ในแดนลบ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า อัตราการเติบโตที่ไม่สูงและต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP Growth) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่เพียงมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อและความสามารถในการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่ยังมีผลต่อการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตและการเฝ้าระวังดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ในฝั่งของสถาบันการเงิน หลัง NPLs และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
———————————————————————————————————————————————————–