HoonSmart.com>>เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ระดับ 3% ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี จากเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ที่ทำงานพร้อมกัน
อุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐที่จะช่วยหนุนให้การบริโภคและการลงทุนในภาพรวมขยายตัว ควบคู่กับอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักคือ ความต้องการจากต่างประเทศที่มีโมเมนตัมดีขึ้นทั้งในส่วนของการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตต่อ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ระดับก่อน COVID-19 ที่ 40 ล้านคน และการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567
หากเจาะลึกลงไปดูที่ภาคส่งออกซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จะพบว่าการส่งออกในปี 2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องได้ที่ระดับ 3% เช่นกัน จากแรงหนุนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัว 3.2% เท่ากับในปี 2567 ขณะที่การค้าโลกจะขยายตัว 3.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ราว 2.8% โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นกลุ่มที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอินเดียที่ GDP มีแนวโน้มขยายตัว 6.5% สูงสุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กลุ่มประเทศอาเซียน-5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ GDP มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเช่นกัน
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาวะดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับการส่งออกของไทย เนื่องจากสินค้าไทยหลายรายการยังเป็นที่ต้องการและเกาะกระแสโลกได้ดี อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร เครื่องสำอาง และอาหารสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจบั่นทอนการส่งออกไทยซึ่งต้องจับตามอง ได้แก่
1.ความเสี่ยงจากสงครามการค้า 2.0 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบาย Make America Great Again จะขึ้นภาษีนำเข้า 10-20% กับทุกประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60-100% ขึ้นภาษีรถนำเข้าจากเม็กซิโก 200% ลดภาษีธุรกิจลงเหลือ 15% จาก 21% คงอัตราภาษีบุคคล 21% ที่จะครบกำหนดในปี 2568 ลดข้อบังคับที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงาน เป็นต้น และอีกหลากหลายนโยบายที่จะตามมา อาจส่งผลให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น มีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลง สำหรับไทยแม้จะเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากขึ้นจากการส่งออกไปทดแทนจีน แต่กลับขาดดุลการค้ากับจีนสูงขึ้นและการเป็นฐานการส่งออกให้กับบริษัทจีนที่ลงทุนในไทยอาจจะถูกสหรัฐมองเป็น Supply Chain ของจีนได้
2.ความเสี่ยงจากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง ตลาดคาดการณ์ว่า นโยบายของทรัมป์จะทำให้เกิดเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ และเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่มากนัก ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนขึ้นลงตลอดเวลาเหมือนในปี 2567 ค่าเงินบาทมีความผันผวนมาก มีการอ่อนค่าและแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจาก Bloomberg ได้จัดทำค่าความผันผวน (Implied Volatility) ของค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค พบว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน เดือนกันยายนและเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีความผันผวนที่ระดับ 4.75 ระดับ 10.63 และระดับ 10.35 ตามลำดับ มากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค รองจากญี่ปุ่น เกาหลี และอินโดนีเซีย
3.ความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง ค่าระวางเรือบรรทุกสินค้าก็ยังคงสูงจากการเดินเรือในเส้นทางที่ยาวขึ้นเพื่อความปลอดภัย กดดันให้เงินเฟ้อโลกยังอยู่ในระดับสูงต่อไป
4.ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้โลกสูง IMF คาดว่า ภายในสิ้นปี 2567 หนี้สาธารณะของโลกมีแนวโน้มสูงถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 93% ของจีดีพีโลก โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสหรัฐ ฯ และจีน เป็นแรงกดดันของรัฐบาลทั่วโลกที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ
“ความเสี่ยงทั้ง 4 ด้านมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ทำให้ต้องระมัดระวัง และนำบริบทความเสี่ยงใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ในการตัดสินใจวางแผนธุรกิจด้วย แผนธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น การวางแผนธุรกิจระยะยาวในรูปแบบเดิม 3 ปี หรือ 5 ปี อาจไม่ตอบโจทย์กับภาวะปัจจุบัน ภาคธุรกิจที่จะสามารถปรับตัวและแข่งขันได้อาจต้องเพิ่มความถี่ในการวางแผนธุรกิจเป็นราย 3 เดือน และจะต้องวางแผนธุรกิจแบบที่เลวร้ายที่สุดไว้ด้วย” ดร.รักษ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวอีกว่า ภายใต้ภาวะความเสี่ยงรอบด้าน ผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า จนนำไปสู่ปัญหาขาดสภาพคล่อง ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนรับมือ โดยตรวจสอบประวัติของคู่ค้าและใช้บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งมีประโยชน์มากมาย ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมั่นใจที่จะค้าขายกับผู้ซื้อรายใดหรือตลาดใดก็ได้ โดยมี EXIM BANK ช่วยติดตามหนี้จากผู้ซื้อในต่างประเทศเมื่อมีปัญหา รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารได้อีกด้วย
สำหรับความเสี่ยงจากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง EXIM BANK มีเครื่องมือเสริมสภาพคล่องและปิดความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 1. EXIM Happy Export Credit สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก 3.25% ต่อปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง และ 2. Happy Foreign Exchange Forward Contract บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ รับ Happy FX Rate โบนัสเพิ่มอีก 3 สตางค์ จองได้สูงสุด 9 สกุลเงินหลัก ให้บริการผู้ส่งออกทั่วประเทศทั้งที่มีวงเงินสินเชื่อกับ EXIM BANK หรือสถาบันการเงินอื่น โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม
“การรับมือกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้จักการป้องกันความเสี่ยงในมิติต่างประเทศ ซึ่ง EXIM BANK มีเครื่องมือป้องกันและบริหารความเสี่ยงที่หลากหลายและครอบคลุม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น”ดร.รักษ์ กล่าว