สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอกองทุนแบบใหม่ลงทุนอินฟราฟันด์ผสมหุ้นยั่งยืน ขั้นต่ำ 10 ปี ได้เครดิตภาษี 20% ของเงินลงทุน แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท กระทุ้ง “สมคิด” เร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เข้า สนช. ทันรัฐบาลนี้ หนุนระบบบำนาญไทยเข้มแข็ง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 ว่า ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเสนอกองทุนรูปแบบใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะครบกำหนดได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562
ทั้งนี้ กองทุนประเภทใหม่ที่จะมาทดแทน LTF ที่เสนอไปนั้นเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และลงทุนหุ้นที่มีรายชื่ออยู่ในดัชนีหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SETTHSI Index) รวมกันไม่น้อยกว่า 50% ของพอร์ต
สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับจากการลงทุนในรูปแบบใหม่นี้ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นเสนอให้สามารถนำเงินลงทุนในกองทุนประเภทใหม่ที่มีระยะเวลาการลงทุนอย่างน้อย 10 ปี ไปหักภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปี หรือ เครดิตภาษี (Tax Credit) ได้ในอัตรา 20% ของเงินลงทุน แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี โดยไม่เกินภาระภาษีที่ต้องจ่าย
“ตัวอย่างเช่น ลงทุน 1 แสนบาท จะเครดิตภาษีได้ 20% ของ 1 แสนบาท หรือ 20,000 บาท ถ้าลงทุน 2 แสนบาท เครดิตภาษีได้ 40,000 บาท และนำไปหักจากภาษีที่ต้องจ่ายได้เลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรจะหักได้เท่ากันหมด”
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ เครดิตภาษีของกองทุนประเภทใหม่ที่มีเงื่อนไขให้ได้ไม่เกินภาระภาษีที่ต้องจ่ายนั้น จึงไม่ได้เป็นการขอเงินภาษีที่จ่ายไปแล้วคืน เช่น หากมีภาระภาษี 10,000 บาท แต่มีการลงทุน 1 แสนบาท ซึ่งได้เครดิตภาษี 20,000 บาท จะนำมาใช้สิทธิหักภาษีได้เพียง 10,000 บาทเท่ากับภาระภาษีเท่านั้น
“การให้เครดิตภาษีจากการลงทุนแทนที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามฐานภาษีแบบเดิม เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่มีข้อท้วงติงว่าคนที่เสียภาษีในอัตราสูงจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่าคนที่อัตราภาษีต่ำ ขณะที่การให้เครดิตภาษีจะเท่าเทียมกัน” นายไพบูลย์
อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ กล่าวว่า “กองทุนรูปแบบใหม่นี้ยังเป็นเพียงแนวทางเริ่มต้น ซึ่งท่าน (รองนายกรัฐมนตรี) ยังไม่ได้ตอบรับอะไร เป็นข้อเสนอของเราที่ให้ท่านช่วยพิจารณา เพราะเราคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะสร้างเงินออมในระบบ… ที่ผ่านมากองทุน LTF สร้างเม็ดเงินในตลาดค่อนข้างมาก และจากข้อมูลในปัจจุบันคนไทยมีบัญชีกองทุนรวม และบัญชีซื้อขายหุ้น เพียง 3 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้คนไทยมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น”
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ยังขอให้รองนายกรัฐมนตรีเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ทันภายในรัฐบาลนี้ เนื่องจากขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว
“ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. กบช. อยู่ในขั้นตอนที่เข้าไปเสนอ สนช. ก็เลยฝากท่านว่า ถ้าสามารถเข้าใน สนช. ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ก็น่าที่จะส่งผลดีต่อตลาดทุนด้วยในระยะยาวได้ ก็คงจะเป็นการสร้างเงินออมระยะยาว” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า กบช. เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มระบบบำนาญของประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันระบบบำนาญของประเทศไทยยังมีปัญหา ไม่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด เงินที่ได้รับหลังเกษียณไม่เพียงพอ และไม่ยั่งยืน เพราะเป็นภาระงบประมาณภาครัฐ ซึ่งหากมีการผลักดัน กบช. ออกมาได้ จะเป็นส่วนเสริมระบบบำนาญให้เข้มแข็งขึ้นได้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมยังได้ชี้แจงต่อรองนายรัฐมนตรีว่า ในปัจจุบันยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดทุนที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายเรื่อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับ FinTech, National Digital ID และ Paperless
“ท่านบอกว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจและจะไปผลักดันให้ลุล่วง เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ พร้อมทั้งมีความคาดหวังให้ตลาดทุนไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยมีบริษัทจดทะเบียนมาจากธุรกิจใหม่ๆ และมีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น” นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวถึงข้อเสนอกองทุนรูปแบบใหม่ว่า เป็นการสร้างแรงจูงใจในการออมระยะยาว และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศที่จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก รวมถึงช่วยทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นายภากร เชื่อว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF ที่จะหมดในปี 2562 จะไม่กระทบกับตลาดหุ้น เนื่องจากเม็ดเงินคงค้างจาก LTF มีประมาณ 3 แสนล้านบาท ในแต่ละปีจะมีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท และมูลค่าการซื้อขายในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เม็ดเงิน LTF จึงไม่ได้สูงจนสร้างผลกระทบรายวัน
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า หากรัฐบาลเห็นชอบกองทุนรูปแบบใหม่ เชื่อว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมจะสามารถปรับตัวได้ เพราะอินฟราฟันด์ฯ และ หุ้นยั่งยืน ในปัจจุบันมีเพียงพอให้ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกลงทุนได้ครอบคลุมความเสี่ยงอยู่แล้ว
“ส่วนประเด็นที่หลายคนห่วงว่า การลงทุนในหุ้นยั่งยืนอาจให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการถือลงทุนในระยะยาวผลตอบแทนหุ้นยั่งยืนมีอัตราผลตอบแทนที่สูง” นายวศิน กล่าว