TFM ชูนวัตกรรมอาหารสัตว์เศรษฐกิจ ดันไทยผลิตกุ้งชิงโอกาสตลาดโลก  

HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” (TFM) เปิด 4 กลยุทธ์สร้างจุดแข็งอุตสาหกรรมกุ้งไทย วางแผนเชิงรุก ชิงโอกาสเติบโต เดินหน้าเปิดตลาดมุ่งตอบโจทย์ดีมานต์ ซัพพลาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกุ้งไทย ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้านผลงานไตรมาส 4  โตต่อเนื่อง จากราคากุ้งและปลาที่สูงขึ้น บริษัทย่อยในอินโดนีเซียหนุน

นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารอาหารสัตว์น้ำเศรษฐกิจกล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในปี 2568 ในงานสัตว์น้ำไทย (Thai Aqua Expo 2024) ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทยมีราคาที่เหมาะสม บริษัทฯมีจุดแข็งในด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากคู่ค้าและผู้บริโภคต่างประเทศมายาวนาน

ปัจจุบันไทยยังเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่มีกำลังการผลิตกุ้งสูงสุดของโลก มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 250,000 ตันต่อปี ขณะที่ปริมาณความต้องการในตลาดโลกอยู่ที่ 5.3 ล้านตันต่อปี สะท้อนให้เห็นว่ากุ้งไทยยังมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ทั้งห่วงโซ่อุปทาน ต้องร่วมมือกันหาทางขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน ผ่านการลงมือทำจริง เพื่อทำให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำในตลาดโลกอีกครั้ง

สำหรับกลยุทธ์ในการผลักดันอุตสาหกรรมกุ้งไทย ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งให้เหมาะสมกับภูมิภาค เช่น ภาคกลางเลี้ยงกุ้งขนาดกลาง ภาคใต้เลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ เพราะจะทำราคาได้ดีกว่า เพื่อสร้างจุดแข็งให้กุ้งไทยแตกต่างจากประเทศอื่นที่เน้นการเลี้ยงกุ้งขนาดเล็ก รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงแบบผสมกุ้งขาว-กุ้งก้ามกรามในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเพื่อลดความเสี่ยง 2. มีหน่วยงานกลางที่เชี่ยวชาญในตลาดกุ้ง ทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างพื้นที่ต่างๆ และทำงานร่วมกันเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยสมาคมแต่ละจังหวัดควรนำผู้ซื้อและผู้ขายมาพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นระยะๆ

3. วางแผนการผลิตสม่ำเสมอตลอดทั้งปี พร้อมเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าทีละมากๆ แบบ Mass production และหันมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ Value Added มากขึ้น 4. เตรียมความพร้อมด้านสายพันธุ์กุ้งที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและต้านโรค ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกุ้งไทยให้กลับมายืนที่ 280,000 – 300,000 ตันต่อปีเราต้องลงมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานสะอาด และสร้างธุรกิจสีเขียวมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กุ้งไทยในตลาดต่างประเทศและตอบสนองความต้องการผู้ซื้อทั่วโลก

“ผมมองทั้งห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทย ตั้งแต่การบริหารโรงงาน ที่เน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน การติดตามตลาดโลกอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงเกษตรกร ห้องเย็น สมาคมในแต่ละจังหวัด โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำและการสื่อสารข้อมูลระหว่างพื้นที่ เพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนการเลี้ยงและผลิตกุ้งได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการไปจนถึงการต่อยอดนวัตกรรมและความยั่งยืนเพื่อสร้างมูลค่าให้ทั้งอุตสาหกรรม และประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมกุ้ง” นายพีระศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบัน TFM เป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมาตรฐาน ASC (Aquaculture Stewardship Council) แห่งแรกของเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกาที่บริษัทต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กุ้งไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อแข่งขันในตลาดโลกซึ่งให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

ดร. สุพิศ ทองรอด ที่ปรึกษาด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์  กล่าวว่า ที่ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อส่งมอบโภชนาการที่ดีให้กับผู้คนและสัตว์ ควบคู่ไปกับการดูแลท้องทะเลอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันอาหารปลาที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ไม่เพียงต้องมีคุณภาพสูง แต่ยังต้องมีอัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio, FCR) ต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำลง แต่ยังต้องได้คุณภาพของเนื้อปลาแบบพรีเมียมตามที่ผู้ประกอบการอาหารและผู้บริโภคให้ความสำคัญ ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น โดยปลาที่เลี้ยงด้วยอาหารไทยยูเนี่ยนจะมีคุณประโยชน์จากปริมาณกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิด EPA และ DHA ในเนื้อปลากะพงขาว ไม่แตกต่างจากปลาในธรรมชาติ และการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำของบริษัทในอนาคต จะเน้นไปที่อาหารสัตว์ที่ได้รับการพัฒนาพิเศษ (Functional feed) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร เช่น การเสริมภูมิคุ้มกัน การเสริมกรดไขมันโอเมก้า-3 เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์สุดท้าย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทย

นายเอกอนันต์ ยุวเบญจพล ผู้ช่วยรองประธานงานวิชาการของ บริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ กล่าวในการบรรยายเรื่อง “สารทดแทนยาปฏิชีวนะ กินฆ่าเชื้อได้ ไม่มีปัญหาสารตกค้าง” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมสารชีวภาพสกัด “นิวทริ-ฟาร์ม กัท โกลด์” ว่า เป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาในการเลี้ยงกุ้ง โดยเป็นสารสกัดจากพืชสมุนไพร, กรดอินทรีย์(สกัดจากพืชหรือสัตว์) และ ยีสต์สกัดคุณสมบัติของ “นิวทริ-ฟาร์ม กัท โกลด์” ทำลายเชื้อก่อโรคกลุ่มวิบริโอ เช่น Vibrio parahaemolyticus ที่ทำให้เกิดโรคตายด่วน (EMS) และโรคขี้ขาว และกำจัดเชื้อ Photobacterium damselae ที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งกล้ามเนื้อขาว ลดปริมาณเชื้อ EHP ในกุ้งทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กุ้งโตช้า กุ้งแตกไซส์ เร่งการเกิดขี้ขาว

“ในงานวิจัยของเราพบว่า “นิวทริ-ฟาร์ม กัท โกลด์” สามารถหาค่า MIC หรือ Minimum Inhibitory Concentration ที่เป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดสารทดสอบที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ ผลที่ได้คือสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ผลไม่แตกต่างจากยาต้านจุลชีพที่กรมประมงอนุญาตให้ใช้ โดยไม่ต้องมีระยะหยุดยาและไม่มีสารตกค้าง ทำให้เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน” นายเอกอนันต์ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์หรือ TFM ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยเป็นผู้นำตลาดในอาหารกุ้งและอาหารปลากะพง ในกลุ่มบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ด้านผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 TFM มีกำไรสุทธิ 384 ล้านบาท เติบโต 430% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส 4 คาดเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 จากราคากุ้งและปลาที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกทั้งการเติบโตของบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซีย

 
 
———————————————————————————————————————————————————–