“กิตติรัตน์” ร่ายยาวนโยบายการเงิน+คลัง ..ย้ำจุดยืนลดดอกเบี้ย ขึ้นภาษี VAT

HoonSmart.com>>”กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ  อาสาเป็นผู้ประสาน ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแนวใหม่ ๆ จึงจะขับเคลื่อนจีดีพีไปต่อได้ กำไรบจ. เพิ่ม รายได้ประเทศเติบโต ย้ำจุดยืนแบงก์ชาติ ต้องลดดอกเบี้ยให้เร็วและแรง แบงก์เอกชน ต้องลดอกเบี้ยเงินกู้ คลังต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้สูงกว่า 7% ด้านการขายชอร์ตหุ้นอาจต้องทบทวน

วันที่ 19 ธ.ค.2567 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่าที่ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนที่ 9 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ อดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความเห็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยให้เติบโตมากกว่า 2% ต่อปี และการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนว่า

สามารถทำได้ แต่ผู้มีอำนาจในการบริหารจะต้องเปลี่ยนแนวคิด และเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ เพราะถ้าทำแบบเดิม แล้วหวังผลลัพธ์แบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมเป็นไปไม่ได้

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน เหมือนการเล่นดนตรีอภิมหาซิมโฟนีออร์เคสตรา ที่แต่ละคนมีความเก่งในเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เมื่อมาเล่นรวมกันพร้อมๆ กัน เนื้อเพลงเดียวกัน ทำให้เพลงออกมาเพราะ ปัจจุบันเหมือนเล่นดนตรีแจ๊ส ต่างคนต่างเล่น

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ได้แสดงความเห็น กรณีที่
1.คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ว่า ผมเคารพการตัดสินใจของทั้ง 7 ท่าน แต่จุดยืนของผมยังเหมือนเดิมที่เคยเขียนไว้ในเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2566 ว่า การลดดอกเบี้ยเร็วและแรง คือ แนวทางป้องกันหายนะ และความเชื่อเรื่องนี้ก็ยังอยู่อย่างเดิมตั้งแต่วันที่ผมพูด แต่ถึงวันนี้อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้ลดลงเร็วและไม่ได้ลดลงแรง ซึ่งผมก็เคารพการตัดสินใจของท่าน แต่ให้อธิบายถึงเหตุผลให้ละเอียด ทำให้คนเชื่อตามท่านได้ก็จะดี จากปัจจุบันที่ให้เหตุผลไว้สั้นๆ ห้วนๆ ซึ่งแปลความจากเหตุผลได้ว่า สถานการณ์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ เครื่องมือที่มีอยู่เก็บไว้ใช้ในอนาคต

แปลว่าขอให้เห็นใจเถอะ เราเคยมียา 8 เม็ดใช้ไปแล้ว 1 เม็ด อีกแนวคิดหนึ่งผมก็มองว่า ก็ถ้ากินเพิ่มอีก 1 เม็ด เราก็ยังเหลือยาอีกตั้ง 6 เม็ด ผมอยากอธิบายว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ ซึ่งผมอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เห็น มาปีนี้ก็ยังไม่ได้เห็นอีก

และที่ผมสนใจมาก คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคล อัตราดอกเบี้ย 24-30% และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต 16% คนที่ผิดนัดชำระคือคนที่เขาจ่ายหนี้ไม่ไหว แต่กลับไปเพิ่มดอกเบี้ยผิดนัดชำระเขาอีก แล้วเขาจะจ่ายไหวไหม

ธนาคารสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีก และยังมีกำไร เพราะจะทำให้หนี้เสียน้อยลง และเงินที่ตั้งสำรองหนี้เสียก็จะตีกลับเข้ามาเป็นรายได้

2.กรณีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่ 15% เป็นไปไม่ได้ เพราะสูงเกินไป แต่ถ้าเก็บที่ 10% เป็นไปได้เพราะภาษี VAT ของไทยอยู่ที่ระดับ 10% อยู่แล้ว แต่หลังจากเกิดต้มยำกุ้ง ก็ได้ลดลงเหลือ 7% และก็มีการต่อในทุกๆ ปี ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถที่จะขึ้นภาษีในกรอบ 10% โดยที่อาจจะเพิ่มครั้งละ 0.25% เหมือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยก็ได้ หรือ จะเพิ่มขึ้น 1% ก็ได้ แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อเก็บภาษีเพิ่มจะได้เงินเท่าไหร่ จะนำเงินไปใช้อะไรให้ชัดเจน

นอกจากนี้ การจะขึ้นภาษีไม่ควรที่จะให้มีข่าวออกมา เพราะจะทำให้เกิดการกักตุนสินค้า สร้างความได้เปรียบและเสียเปรียบ ควรที่จะมีการหารือกันเงียบๆ อย่างลับที่สุด สรุปแล้วจึงค่อยประกาศ จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด และไม่เกิดการการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ให้เติบโตได้มากกว่า 2% ในปัจจุบัน ผู้บริหาร

3.กรณีกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ให้สูงกว่าปัจจุบันที่จีดีพีมีการเติบโตต่ำร่วม 10 ปีแล้ว เพราะถ้าเศรษฐกิจยังโตเอื่อยๆ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จะมีกำไรที่ดีขึ้นได้อย่างไร แม้ที่ผ่านมากำไรจะโตกว่าจีดีพีก็ตาม การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นศูนย์รวมของบริษัทจดทะเบียน จะะต้องทำการระดมสมอง ทั้งกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารรัฐ เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ยกตัวอย่าง ช่วงปลายปีของทุกปีเกษตรกรจะมีการเผาเศษฟาง เศษใบไม้ ต่างๆ ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ทำลายธาตุอาหารพืช และทำลายการท่องเที่ยว บางจังหวัดคนไม่ไปเที่ยวเลย ถ้าสามารถทำให้เกษตรกรหยุดการเผาได้จะทำให้จีดีพีไทยโตได้อย่างน้อย 1-2%

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของไทยต้องเหมาะสม ปัจจุบันค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยอยู่ในระดับที่ค่าเงินแข็งมาร่วม 2 ทศวรรษ ซึ่งประเทศอื่นๆ เขาไม่ยอมให้ค่าเงินแข็งค่าขนาดนี้ ยกตัวอย่างญี่ปุ่น หลังจากใช้นโยบายค่าเงินอ่อน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหลุดออกจากการเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตต่ำได้ หากจะมองว่าถ้าปล่อยค่าเงินบาทอ่อนราคาสินค้าจะแพง แต่ถ้าสินค้าแพงและเศรษฐกิจเติบโต ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นถือว่าสมเหตุสมผล

ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในภาคการเกษตรให้ได้ จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ สามารถไปดูตัวอย่างการบริหารของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ได้ เช่น อินเดีย สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 30% เวียดนาม เพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ 100% เมื่อเทียบกับอดีต

4.กรณีการขายชอร์ตหุ้น หรือ Short Sell นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ถ้าการมี Short Sell นำไปสู่ความฉงนสงสัย การที่จะระงับชั่วคราว ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง และ การขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ Naked Short Selling เพราะกลัวว่าขายหุ้นแล้วจะส่งมอบหุ้นไม่ได้ ซึ่งเรื่องนั้นเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีบริการพิเศษว่า ใครอยาก Short Sell ก็มายืมหุ้นได้โดยไม่ต้องกังวล แต่จากการที่รูปแบบเปลี่ยนไป การทบทวนตัวเองอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์เอเชีย การที่เลือกระงับยับยั้งชอร์ตเซลเป็นการชั่วคราว ซึ่งผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ คงมีการพูดคุยหารือกันมาแล้วว่าพบความผิดปกติเรื่องอะไร สามารถที่จะเรียนรู้จากเขาได้