โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกำไรหรู ‘EA-BCPG’ มีพิเศษช่วย

โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โชว์ผลงานไตรมาส 3/2561 โตมาก EA ได้กำไรทางบัญชีจากการรวมธุรกิจช่วย 894 ล้านบาท รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม 126 เมกะวัตต์หนุน ส่วน BCPG มีกำไรขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น 658 ล้านบาท BGRIM ตั้งเป้าปี 2562 รายได้โต 15-20% GULF เซ็นสัญญาเงินกู้ 38,000 ล้านบาท เดินหน้าลงทุน 2,650 เมกะวัตต์

บริษัทที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทยอยประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 3/2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ความเข้มแสงลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่บริษัทหลายแห่งยังมีกำไรสุทธิที่ดีมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการใหม่ และบางบริษัทมีกำไรพิเศษ เช่น บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีกำไรสุทธิ 1,272 ล้านบาท เติบโต 30.53% มาจากกําไรทางบัญชีที่เกิดจากการรวมธุรกิจที่ดําเนินการสําเร็จเป็นขั้นจํานวน 894.58 ล้านบาท

ขณะที่มีรายได้รวม 894.58 ล้านบาท ลดลง 135.44 ล้านบาท หรือ 4.37% รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง 6.78% เหลือ 1,333.61 ล้านบาท รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม 726.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.85% หลังเปิดดําเนินงานเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังลมรวม 126เมกะวัตต์ รวมถึง เดือนก.ค.และก.ค.ของปี 2561 เป็นช่วงที่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังลมในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ของประเทศทําได้ดี เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลที่มีกระแสความเร็วสูง ทําให้สามารถสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าปกติ ทำให้กำไรสุทธิรวม 9 เดือนปีนี้ EA ทำได้ทั้งหมด 4,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.99% จากที่มีกำไรสุทธิ 2,921 ล้านบาท


เช่นเดียวกัน บริษัท บีซีพีจี (BCPG) ในไตรมาส 3/2561 มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น จำนวน 829 ล้านบาท ลดลง 2.8% จากไตรมาส 3/2560 และลดลง 5.15 จากไตรมาส 2/2561 แต่มีกำไรสุทธิถึง 1,139 ล้านบาท พุ่งขึ้น 481% จากไตรมาส 3/2560 เนื่องจากมีกำไรจากการขาย 2 โครงการโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น ทั้งหมด 658 ล้านบาท

นอกจากนี้ BCPG ยังมีการเปิดขายไฟฟ้าของโครงการโซลาร์สหกรณ์ ระยะที่ 2 โครงการอผศ. ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี มีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าที่ 5เมกะวัตต์และโครงการที่จังหวัดสระบุรี มีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าที่ 3.94 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการที่ญี่ปุ่น Gotemba สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าที่ 4.0 เมกะวัตต์

ทางด้านบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM)มีกำไรสุทธิ 794 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 39.78% โดยนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/2561 มีรายได้เติบโต 20% เป็น 9,691 ล้านบาทจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 3 และ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 4 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 ก.พ.และ 1 มิ.ย. 2561 ตามลำดับ ขณะเดียวกันลูกค้าเดิมมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญบริษัทฯ มีความสามารถในการบริหารจัดการสินทรัพย์และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศตามแผนขยายกำลังผลิตติดตั้งอีก 861 เมกะวัตต์ เติบโต 45% จาก 1,912 เมกะวัตต์ ณ สิ้น ไตรมาส 3/2561 เป็น 2,773 เมกะวัตต์ในปี 2562 โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 5 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 133 เมกะวัตต์ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามกำหนดแล้ว บริษัทฯ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนา ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน

สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคเกษตร 7 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 31 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ภายในเดือนธันวาคม 2561 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว กำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 1/2562 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 677 เมกะวัตต์ ในกลางปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ ในปลายปี 2562 ทไให้รายได้เติบโตต่อเนื่องในอัตรา 15-20% ในปี 2562 โดยบริษัทยังมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งที่ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF) เปิดเผยว่า บริษัทย่อย คือ กัลฟ์ เอสอาร์ซี (GSRC)ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ คาดจะเริ่มก่อสร้างในวันที่ 3 ธ.ค.2561 หลังจากลงนามในสัญญาเงินกู้เพื่อรับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวในวงเงินรวมประมาณ 38,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสกุลเงินบาท 50% และสกุลเงินเหรียญสหรัฐ 50% กับกลุ่มสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวม 12 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเพฯ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ จำกัด สาขาสิงคโปร์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์และธนาคารไอซีบีซี (ไทย)