HoonSmart.com>>ดีลอยท์ เผยปี’67 มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย IPO รวม 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 90% ของการระดมทุนทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท ดีลอยท์ เซาท์อีสท์ เอเชีย บุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับสาธารณะชน (IPO) 122 บริษัท โดยระดมทุนได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO จะยังคงมีปริมาณสูง แต่จำนวนเงินทุนที่ระดมทุนได้มีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 163 บริษัทในปี 2566
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของกิจกรรม IPO ในภูมิภาค เกิดจากการขาดการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ โดยในปี 2567 มีเพียงการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทเดียวเท่านั้นที่สามารถระดมทุนได้เกินกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ปี 2566 ที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ถึง 4 บริษัท
ในปี 2567 มาเลเซีย, ไทย, และอินโดนีเซีย รวมกันสามารถระดมทุนได้ประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นกว่า 90% ของการระดมทุนทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาเลเซียสร้างสถิติใหม่ในการเสนอขายหุ้น IPO ของ 46 บริษัท ระดมทุนได้ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการระดมทุนในภูมิภาคนี้
อินโดนีเซียกลับไม่ติด 10 อันดับแรกของหุ้น IPO ในภูมิภาคเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เนื่องจากการชะลอตัวในตลาดทุนหลังการเลือกตั้ง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและทรัพยากรพลังงานเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการระดมทุนในภูมิภาคนี้คิดเป็น 52% ของจำนวนบริษัทที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด และ 64% ของมูลค่าการระดมทุน IPO ทั้งหมด ตามลำดับ
เท ฮวี ลิง ลีดเดอร์ ที่ปรึกษาด้านบัญชีและรายงานทางการเงิน ประจำ ดีลอยท์ เซาท์อีสท์ เอเชีย กล่าวว่า “ตลาด IPO ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผชิญกับความท้าทายสำคัญในปี 2567 รวมถึงความผันผวนของค่าเงิน ความแตกต่างของกฎระเบียบในแต่ละประเทศในภูมิภาค และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่สูงในภูมิภาคอาเซียนยังจำกัดการกู้ยืมของบริษัท ทำให้การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสาธารณะครั้งแรกชะลอตัว เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เลือกที่จะเลื่อนการเสนอขายหุ้นออกไป นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดในประเทศคู่ค้าหลักยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ขณะที่ข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศในภูมิภาคก็ทำให้เกิดความซับซ้อนสำหรับบริษัทที่ต้องการเสนอขายหุ้นข้ามประเทศ บริษัทที่ต้องการเสนอขายหุ้นข้ามประเทศต้องพิจารณาถึงตลาด IPO ที่เป็นตัวแทนของการเติบโตของธุรกิจตนเอง โดยตลาดนั้นจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าใจและประเมินรูปแบบธุรกิจได้ดี เนื่องจากตลาดนั้นมีบริษัทจดทะเบียนที่คล้ายคลึงอยู่ นอกจากนี้บริษัทควรพิจารณาตลาด IPO ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เฉพาะภาคธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนในภาคธุรกิจของตน
สำหรับ ตลาดในประเทศไทย แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO ในประเทศไทยจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีเพียง 29 บริษัท ในปี 2567 จำนวนเงินที่ระดมทุนได้ทั้งหมดอยู่ที่ 756 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 26% ของจำนวนเงินที่ระดมทุนในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยติดหนึ่งในสามของตลาด IPO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าความท้าทายจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงอยู่ แต่ตลาดทุนมีการเติบโตและฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการกำกับดูแลที่ดีและความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้ตลาดในประเทศไทยโดยมีจำนวน IPO ที่จะเกิดขึ้น ที่จะมาจากหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
“ในปี 2567 ภูมิทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย และการเสนอขายหุ้น IPO สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตในระดับปานกลาง ขณะที่บริษัทต่างๆ พยายามใช้ประโยชน์จากการเติบโตหลังการระบาดของโรคระบาด หลายบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินงานที่นำ GenAI และวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลยังได้เปิดตัวโครงการเพื่อเพิ่มความโปร่งใสของตลาดและสนับสนุนธุรกิจใหม่ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) เพื่อกระตุ้นกิจกรรมการระดมทุนเพิ่มเติม” น.ส.วิลาสินี กฤษณามระ พาร์ทเนอร์ บริการสนับสนุนด้านบัญชีสำหรับรายการทางธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว