HoonSmart.com>>อมตะ เร่งเดินแผนบูรณาการ ด้านการจัดหาที่ดิน พัฒนาพื้นที่ น้ำ ไฟสะอาด ดาต้าเซ็นเตอร์ โทรศัพท์ สร้างความมั่นใจผู้ประกอบการในนิคมฯ ดึงดูดกลุ่มทุนใหม่ย้ายฐานการผลิตเข้าแดนสยาม คาดปีนี้ยอดขายที่ดินแตะ 2,500 ไร่ “วิกรม กรมดิษฐ์ “ย้ำทุเรียนหล่น ไม่ใช่ส้มหล่น แนะรัฐวางนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้ชัด คว้าโอกาสให้ไว ไทยเหมาะสุดในอาเซียนจุดแข็งพลังงานเพียงพอ
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า ปีนี้อายุ 72 ปี อยู่ในวัยที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่สามารถลุยงานได้เหมือนวัยหนุ่ม เพราะกลัวเดี้ยง จากเดิมทำงานแบบเถ้าแก่ ทำเองทุกอย่าง นิคม น้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ แต่ในยุคปัจจุบันจะทำงานแบบเถ้าแก่ไม่ได้แล้ว ต้องใช้มืออาชีพ มีการแยกธุรกิจออกชัดเจน แล้วหาคนเก่ง มีความเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาจากองค์กรใหญ่ๆ ชั้นนำของประเทศ เข้ามานั่งบริหารและขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่มอมตะ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ในนิคมอุสาหกรรมอมตะทั้งหมด มีคนทำงานร่วม 400,000 คน โรงงานที่เข้ามาตั้งและทำธุรกิจประสบความสำเร็จ 98%-99% แม้จะเป็นช่วงที่โควิดระบาด คนก็ยังมีงานทำ และโรงงานหรือบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในนิคมก็ยังเดินเครื่องปกติ ดูจากกำลังการใช้ไฟ ใช้น้ำ ที่ไม่ได้ลดลง โดยแบ่งเป็นโรงงานของกลุ่มทุนญี่ปุ่น 730 โรงงาน เกินกว่า 99% ประสบความสำเร็จ กลุ่มทุนจีน ประมาณ 400 โรงงาน มีการเติบโตต่อเนื่อง
“นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาในไทย เขามาใช้แรงงานไทย ใช้วัตถุดิบในไทย ฝ่ายบริหารส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย บริษัทขนาดใหญ่ที่มีคนทำงานร่วม 1 หมื่นคน ใช้คนจากประเทศเขาแค่ 20 คน ที่เหลือเป็นคนไทย ยกตัวอย่าง บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เกิดปีเดียวกับอมตะ วันเริ่มต้นทุนจดทะเบียนพอๆ กัน วันนี้เดลต้ามีพนักงานที่ทำเรื่องค้นคว้าวิจัย 500-600 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย”นายวิกรม กล่าว
แนะรัฐใช้แผนดึง FDI ของ 3 ชาติ
นายวิกรม กล่าวว่า หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา อาจจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 60% และประเทศอื่นๆ อีก 10% ฉะนั้นสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯจะถูกขึ้นภาษี ทำให้ราคาแพง ซึ่งจะแข่งขันไม่ได้ คาดว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตมาทางเอเชีย
ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมสุดในด้านโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการลงทุน รัฐบาลต้องทำแผนและนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศออกมาให้ชัด ทางที่เร็วที่สุดคือ ดูนโยบายด้านนี้จากประเทศอื่นๆ ที่เขาทำสำเร็จแล้ว อย่างสิงคโปร์ ดูไบ เวียดนาม แล้วนำมาปรับใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งคิดมาก และคนไทย ไม่ต้องกลัวว่าต่างชาติจะมายึดเอกราชทางเศรษฐกิจ จากการปล่อยให้เข้ามาซื้อที่ดิน มาสร้างโรงงานที่ไทย เพราะถ้าเขาเจ๊ง ทุกอย่างก็อยู่ที่ไทยขนกลับไปไม่ได้ ในขณะที่ประเทศไทย จะได้ทั้งเงินลงทุน ได้การจ้างงาน ได้ความรู้ที่เกิดจากการถ่ายทอดให้กับคนไทย และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้าไทยถึง 7 แสนล้านบาท ถือว่ามากที่สุดในช่วงหลายปี แม้จะไปที่อื่นด้วย แต่ไทยไทยเหมาะที่สุด เรื่อง น้ำ เรื่องไฟ และยังมีไฟสะอาดด้วย ทำให้การลงทุนไม่สะดุดแน่นอน ในขณะที่เวียดนามไฟไม่พอ มาเลเซีย ขาดไฟ ส่วนหนึ่งเขาไปลงทุนที่อินโดนีเซีย
“วันนี้ ไทยเรียกว่าทุเรียนหล่น ไม่ใช่ส้มหล่น โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรเลย เพราะไฟเราเหลือ และเรายังซื้อไฟจากลาว 8,000 เมกะวัตต์ ที่เป็นไฟสีเขียว วันนี้ไทยมีไฟใช้ประมาณกว่า 35,000 เมกะวัตต์ โดยที่ 8,000 เมกะวัตต์ เป็นไฟสีเขียวจากลาว และเราก็กำลังผลิตไฟสะอาดที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการที่รัฐบาลส่งเสริมการผลิตไฟจากแสงแดด และลม ซึ่งจะตรงกับความต้องการของผู้ผลิตที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศ ที่ตอนนี้มีการบอกว่าต้องใช้ไฟจากพลังงานสะอาด”นายวิกรม กล่าว
ใช้โมเดลน้ำเมืองกาญจน์กันท่วม
นายวิกรม ยังแนะนำให้รัฐบาลใช้โมเดลการจัดการน้ำของจังหวัดกาญจนบุรี ที่เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีน้ำท่วม และ ไม่แล้ง ตลอดทั้งปี ทั้งที่มีพื้นที่เพียง 19,000 ตารางกิโลเมตร และสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 26,000 ล้านลูกบาศน์เมตรต่อปี คิดเป็น 1 ใน 4 ของน้ำทั้งหมด เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำทั่วประเทศที่สามารถเก็บไว้ได้ 70,000 ล้านลูกบาศน์เมตรต่อปี จากพื้นที่ทั้งหมด 510,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถเก็บน้ำได้แค่ 10% ของฝนที่ตกลงมาในแต่ละปี จึงทำให้น้ำท่วมเมื่อฝนตก และแล้งในหน้าแล้ง ในขณะที่จังหวัดกาญจนบุรี ไม่มีน้ำท่วมและไม่แล้ง สามารถส่งน้ำให้กับ 7 จังหวัดใกล้เคียงได้ตลอดปี
สำหรับ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทางภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะมีการระบายน้ำออกจากกรุงเทพลงทะเล มีแม่น้ำบางปะกงซึ่งติดกับทะเลกั้นอยู่ หากมีการระบายน้ำออกมาก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมในนิคม
ปีนี้ยอดขายที่ดิน 2,500 ไร่
น.ส.เด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า 9 เดือนแรกขายที่ดินได้ราว 2,000 ไร่ โดยยอดขายเพิ่มมากในไตรมาส 3 ปีที่ขายได้ 957 ไร่ ซึ่งได้ปรับยอดขายที่ดินเพิ่มเป็น 2,500 ไร่ในปีนี้ โดยมีงบประมาณในการจัดหาที่ดินตลอดปี 2567 จำนวน 5,000-6,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2567 มีการเซ็นสัญญาขายที่ดินให้ลูกค้ากลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ 70 ไร่ จึงมั่นใจว่ายอดขายที่ดินน่าจะได้ตามเป้า
“มีกลุ่มนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีนมีเข้ามามากขึ้น คิดว่าแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกตลอดปี 2568″น.ส.เด่นดาว กล่าว
อมตะ ยู จับมือ EASTW เสริมจุดแข็งด้านน้ำ
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ ยู (AMATA U) กล่าวว่า อมตะ ยู ทำธุรกิจด้านน้ำ และบริษัทฯยังถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ดำเนินการเกี่ยวกับภาคพลังงาน ภาคการบริการทั้งหมด เป็นบริษัทของกลุ่มอมตะ ทำธุรกิจจัดหาและให้บริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ พลังงานที่มีคุณภาพสูงและนวัตกรรม ที่มั่นคง ยั่งยืน ครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะทั้งในประเทศ 150 ตารางกิโลเมตร โดยจะขยายเป็น 500 ตารางกิโลเมตรในระยะต่อไป และดูแลกลุ่มอมตะในต่างประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
“หลักๆ คือ ดูแล อมตะ ซิตี้ ชลบุรี 1 และ อมตะ ซิตี้ ระยอง 1 ซึ่งปัจจุบันอมตะ มี 3 นิคมใหม่เกิดขึ้น คือ อมตะ ซิตี้ ระยอง 2 อมตะ ซิตี้ ชลบุรี 2 และอมตะ สมาร์ท ซิตี้ ชลบุรี และอยู่ระหว่างช่วงเร่งรัดให้เกิดการบริการลูกค้ารายแรกที่ลาว รวมแล้วดูแล 7 นิคมอุตสาหกรรมในไทยและลาว”นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวว่า ล่าสุดได้ลงนามกับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมีเมืองใหม่เกิดขึ้น โดยจะร่วมกันศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำดิบของอมตะ ยู ที่ปัจจุบันมีอยู่ 17 แห่ง แต่ในอนาคตจะมีมากกว่านี้ และการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อน้ำของอีสท์ วอเตอร์ กว่า 560 กิโลเมตร เพื่อสร้างระบบส่งน้ำที่มีเสถียรภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ รองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยวางงบในการทำการเชื่อมต่อเพื่อฟีดน้ำเข้าท่อของ EASTW ไว้ที่ 20 ล้านบาท
“เรามีน้ำดิบที่ต้องการใช้ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากปริมาณน้ำดิบที่เรามีทั้งหมด 61.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หมายความว่าถ้าฝนไม่ตกเลยเรามีน้ำสำรองใช้ได้ถึง 2 ปี ส่วนกำลังการผลิตน้ำรวมทำได้ 160,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำยอดขายน้ำในนิคมอมตะได้ 58 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในอนาคตตั้งเป้าเพิ่มเป็น 110 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ตามการขยายตัวของนิคมใหม่อีก 3 แห่ง ซึ่งมั่นใจว่าน้ำที่เรามี และน้ำของพันธมิตรที่จะได้จาก EASTW อีก เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของผู้ประกอบการ ในส่วนที่ร่วมกับ EASTW คาดว่าจะเริ่มทดลองขายน้ำดิบเฟสแรกได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ราวๆ 100,000 ลูกบาศก์เมตร และจะเพิ่มเป็น 5 ล้านลูกบาศก์เมตรในระยะต่อไป”นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวว่า อมตะ ยู ยังมีบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจพลังงาน คือ บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งมีแก๊สเทอร์บาย 5 บล็อค ที่ระยอง 1 และ 5 บล็อคที่ชลบุรี 1 กำลังการผลิตรวมกัน 1,380 เมกะวัตต์ เป็นกำลังหลักสำคัญในการซัพพลายความมั่นคงด้านพลังงานให้ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมอมตะ
สำหรับ เรื่องใหม่ของ อมตะ ยู คือการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นพันธกิจที่ต้องทำคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ล่าสุด 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้เซ็นสัญญากับบริษัทที่ทำดาต้าเซ็นเตอร์ ในการจัดหาพลังงานสะอาด 40 เมกะวัตต์ ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย. 2569 โดยบ่อแรกมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 20 เมกะวัตต์ และยังได้จัดทำโครงข่ายแก๊สเข้ามาในระบบพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมด และถัดไปจะพัฒนาไปถึงการผลิตพลังงานจากไฮโดรเจน เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ บริษัทจับมือกับ เอไอเอส ในการดูแลโครงข่ายไฮเวย์ทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม และมีบริษัทย่อยให้ให้บริการต่างๆ ทุกอย่างเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
“ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ประโยชน์ของอมตะอย่างเดียว แต่ยังเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในนิคม ให้เกิดความมั่นใจว่า การจัดหาที่ดิน การพัฒนา รวมถึงระบบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ มีความพร้อมครบวงจร สามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และมั่นคง”นายชวลิต กล่าว
———————————————————————————————————————————————————–