‘กลุ่มสามารถ’ แย้มโค้งสุดท้ายมีข่าวดี ดัน Backlog ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท

HoonSmart.com>>’กลุ่มสามารถ’  โชว์ผลงาน 9 เดือนปี67 ทุกสายธุรกิจมีทิศทางขาขึ้น กวาดงานใหม่ดัน Backlog โตเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท รอเซ็นสัญญาอีกหลายโครงการในไตรมาสที่ 4  คาดปีนี้ทะลุ  2 หมื่นล้านบาท  กลุ่มมีความพร้อมด้านธุรกิจและการเงินแกร่ง เตรียมขายหุ้นกู้ต้นพ.ย. ดอกเบี้ย 5.2% ต่อปี  คืนหนี้ต้นปีหน้าและขยายธุรกิจสร้างการเติบโตต่อไป

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร และพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART)  เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในช่วงเดือน 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2567 เป็นที่น่าพึงพอใจ ทุกสายธุรกิจมีทิศทางขาขึ้นและแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยมี Backlog ทั้งกลุ่มรวมเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะสายธุรกิจ ICT โดดเด่นในไตรมาส 3 แต่ก็ยังมีหลายโครงการที่ล่าช้าจากงบประมาณภาครัฐที่ดีเลย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าจะรับรู้รายได้และกำไรมากขึ้นกว่าทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา

สายธุรกิจ Digital ICT Solutions หรือ “SAMTEL”  มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่มูลค่ากว่า 1,500 บาท อาทิ โครงการของการนิคมอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กรมที่ดิน เป็นต้น รวม Backlog ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่มากที่สุด มูลค่ารวมประมาณ 6,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มใช้งบประมาณเต็มที่ อาทิ โครงการ Core Banking, โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และอื่น ๆ ทั้งนี้คาดว่าทั้งปีจะมีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่รวมประมาณ 7,500 ล้านบาท

สำหรับสายธุรกิจ Utilities & Transportations โดยบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ธุรกิจด้านการให้บริการจัดการการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชา เฉพาะ 9 เดือน จำนวนไฟล์บินเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8% รายได้เติบโตขึ้น 12% ใน 6 เดือนแรก ด้านกำไรมากกว่าเดิมค่อนข้างมาก  เติบโตมากถึง 85% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) เป็นผลจากการที่รัฐบาลกัมพูชาออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เกิดเส้นทางการบินใหม่ รวมถึงมีการลงทุนเปิดสายการบินใหม่แอร์เอเชียกัมพูชา ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในช่วง high season คือช่วงไตรมาส 4 นี้อย่างแน่นอน ด้านโครงการขยายการบริหารจัดการวิทยุการบินที่สปป.ลาว มีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเซ็นสัญญา MOU ในไตรมาส 4 ปีนี้

สายธุรกิจ Digital Communications  โดยบริษัท สามารถ ดิจิตอล (SDC) รับรู้รายได้จากค่าบริการ Airtime ตลอดทั้งปี ในโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล หรือ Digital Trunked Radio System ของโครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย (MOI) ประมาณ 317 ล้านบาท และล่าสุดได้รับการขยายอายุสัญญา 15 ปี จากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ สร้างโอกาสในการขยายฐานผู้ใช้บริการ DTRS ในองค์กรสาธารณภัยซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยสรุป SDC เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปีตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 602 ล้านบาท

“การก้าวสู่ยุคดิจิตอลเป็นโอกาสของการขยายผลและต่อยอดธุรกิจ เราจึงมุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่นบริษัท เทด้า ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อาทิโซลาลูฟท็อป และคาร์บอนเครดิต , โครงการ Direct Coding ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้แก่กรมสรรพสามิต เราก็มีแผนขยายการให้บริการเข้าไปในกลุ่มยา อาหารเสริม และ wine cooler เป็นต้น”

นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทมีความพร้อมทั้งการบริหารงานและฐานะการเงินที่มั่นคง มีการออกหุ้นกู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยขยายธุรกิจตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และมีการชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดตรงเวลามาโดยตลอด โดยการประกาศขายหุ้นกู้ครั้ง 1 ปี 2567  ได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้สนใจซื้อถึง 643 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 85% ล่าสุดมีการเตรียมออกหุ้นกู้ครั้งที่ 2 ปี 2567 เป็นหุ้นกู้ 2 ปี ดอกเบี้ย 5.2% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งจะเปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 5-7 พ.ย.2567  เพื่อจะนำเงินมาใช้คืนหุ้นกู้ที่จะหมดในเดือนม.ค. 2568 จำนวน 1,675 ล้านบาท และเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯต่อไป