OKJ เปิดเทรดวันแรก 10.10 บาท สูงกว่าราคาขาย IPO 50.75%

HoonSmart.com>>หุ้น OKJ เปิดเทรดวันแรกที่ 10.10 บาท สูงกว่าราคาขาย IPO 50.75% ตอกย้ำพื้นฐานธุรกิจแกร่ง พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจฟาร์มเกษตรอินทรีย์และร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ปักธงเปิดสาขาใหม่ ‘โอ้กะจู๋’ ‘Oh! Juice’ และ ‘Ohkajhu Wrap & Roll’ เพื่อให้มีจำนวนสาขารวมมากกว่า 150 สาขาภายในปี 71 โดยราคา IPO คิดเป็น P/E 24.13 เท่า เทียบกับบริษัทคล้ายคลึงกันได้แก่ AU 33.84x, MAGURO 31.98x

หุ้น OKJ เปิดเทรดวันแรกที่ 10.10 บาท เพิ่มขึ้น 3.40 บาท หรือ +50.75% จากราคาขาย IPO ที่ 6.70 บาท/หุ้น

นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ที่จะเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ด้วยศักยภาพของบริษัทฯ และพื้นฐานการดำเนินธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Be Organic from Farm to Table” เน้นวิถีเกษตรอินทรีย์ (Organic) ภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” “Oh! Juice” และ “Ohkajhu Wrap & Roll” จะสนับสนุนให้ OKJ เป็นหุ้นที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ และมีความยั่งยืนในอนาคต

บริษัทฯ มีเป้าหมายสร้างการเติบโตในฐานะ “King of Organic Salad” ในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาสูตรอาหารและเครื่องดื่มมาโดยตลอด เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าและผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และความพร้อมด้านบุคลากรของฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มทำให้เมนูอาหารเพื่อสุขภาพมีรสชาติอร่อย แปลกใหม่ ทานง่าย ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและเพิ่มยอดขายให้บริษัทฯ ได้มากขึ้น โดยบริษัทฯ ใช้เวลาในการคิดค้นและออกเมนูหรือผลิตภัณฑ์ใหม่เพียงประมาณ 1-2 เดือน

อย่างไรก็ตาม OKJ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจและสร้างแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงการศึกษาและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้าง New S-Curve โดยตั้งเป้าแผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี (2567-2571) ในการขยายสาขาใหม่ทั้ง 3 แบรนด์ แบ่งเป็น วางแผนจะขยายสาขาแบรนด์ “โอ้กะจู๋” เป็น 67 สาขา จากปัจจุบันที่มีร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service Restaurant) และร้านอาหารในรูปแบบ Deliver & Kiosk รวมทั้งสิ้น 37 สาขา, ขยายสาขาแบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” ให้ครบ 20 สาขา จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 1 สาขา และขยายสาขาแบรนด์ “Oh Juice” ให้ครบ 70 สาขา จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8 สาขา ส่งผลให้มีสาขารวมทั้งสิ้น 157 สาขาภายในปี 2571 เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ รวมทั้งหัวเมืองหลักในภูมิภาคต่าง ๆ

นอกเหนือจากนั้น บริษัทฯ ยังวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า ได้แก่ ร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ (Delivery and Kiosk) เน้น Delivery และ Grab & Go, การให้บริการแบบ Drive Thru การบริการอาหารว่าง (Snack box) การสั่งอาหารทางออนไลน์ Food Delivery Platform ต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้รับการสนับสนุนจาก OR ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัทฯ ซึ่ง OR เป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ ที่พร้อมส่งเสริมการเติบโตในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในทำเลที่มีศักยภาพ (Strategic location) การนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ไปวางจำหน่ายผ่านร้าน Café Amazon นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการวางจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เช่น ผัก สลัดพร้อมทาน ผ่าน Rimping Supermarket ใน จ.เชียงใหม่ และ Gourmet Market ในกรุงเทพฯอย่างไรก็ตาม OKJ ยังมีแผนในการเพิ่มบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอื่น ๆ เช่น การจำหน่ายและบริการวางแผนมื้ออาหาร (Meal plan) และการจัดเลี้ยง (Catering) ซึ่งตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และความนิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OKJ กล่าวว่า เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการทำเกษตรอินทรีย์ บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนากระบวนการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต โดยได้ศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกให้เป็นเกษตรอินทรีย์เชิงอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ปริมาณที่ต้องการอย่างสม่ำเสมอ เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในพื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิมโดยจะใช้เงินระดมทุนมาลงทุนในระบบและอุปกรณ์ที่ได้ศึกษาและออกแบบไว้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้อีกประมาณร้อยละ 300 จากปริมาณผลผลิตที่ได้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ได้มีกลยุทธ์ในการลงทุนและพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เช่น เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เครื่องย้ายต้นกล้า เครื่องโปรยปุ๋ย รถไถพรวนดิน ระบบรดน้ำ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมุ่งมั่นในการขยายเครือข่ายเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการสรรหาผลผลิต รวมถึงเป็นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร อีกทั้งลดการใช้เคมี คืนผืนป่าและต้นน้ำให้แก่ชุมชน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิตที่ได้รับจากเครือข่ายเกษตรกร จึงมีแผนในการพัฒนาสถานที่ที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพ (In-house lab) จากผักที่รับซื้อจากเกษตรกรทุกรอบ สำหรับการใช้ในร้านอาหารรวมถึงการจำหน่ายภายใต้โครงการโอ้กาด และให้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของบริษัทฯ เอง (Ohkajhu’s Certified) เพื่อให้มั่นใจว่าผักที่ซื้อจากเกษตรกรทั้งหมดจะเป็นผักออร์แกนิคที่ปราศจากสารพิษและสารเคมีตกค้าง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) โดยมีแผนในการสร้างครัวกลางกรุงเทพฯ แห่งใหม่ ในโซนรังสิต จ.ปทุมธานี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบได้ภายในไตรมาส 3/2568 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มสายการผลิตสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงแผนพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงห้องล้างผัก และเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในครัวกลาง ระบบการบริหารจัดการวัตถุดิบสินค้าคงเหลือ และสำนักงาน เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า OKJ เป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในไทย จึงมีกระแสตอบรับจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเป็นอย่างมากในช่วงการจองซื้อหุ้น IPO ที่ผ่านมา เนื่องจาก แบรนด์ “โอ้กะจู๋” เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่าเป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารสุขภาพ ที่เสิร์ฟอาหารคุณภาพระดับพรีเมี่ยม โดยบริษัทฯ ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพระดับสูง ใช้ผักสดใหม่จากสวน ด้วยกระบวนการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ที่เสริมสร้างคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงมีผัก และดอกไม้ที่หลากหลายกว่า 50 ชนิด ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้บริษัทฯ แตกต่างจากร้านอาหารอื่น ๆ ขณะเดียวกันมีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และเป็นผู้นำในการสร้างเทรนด์ผลิตภัณฑ์ และเมนูเพื่อสุขภาพที่แปลกใหม่ (Trend setter) ส่งผลให้ OKJ เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานทางธุรกิจแข็งแกร่งและมีโอกาสเติบโตในอนาคตอีกมาก

บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) ราคาเหมาะสม Consensus อยู่ที่ 7.90-8.10 บาท ประกอบธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเน้นการปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic) และนำเสนออาหารและเครื่องดื่มจากวัตถุดิบหลักที่เป็นอินทรีย์โดยมีธุรกิจหลัก ดังนี้ 1.ธุรกิจบริการและจำหน่ายอาหาร จำนวน 37 สาขา แบรนด์ “โอ้กะจู๋” (สัดส่วนรายได้ 99.3%) 2.ธุรกิจร้านอาหารประเภทจานด่วน จำนวน 1 สาขา แบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” (สัดส่วนรายได้ 0.1%) และ 3.ธุรกิจร้านน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ จำนวน 6 สาขา แบรนด์ “Oh! Juice” (สัดส่วนรายได้0.6%)

บริษัทฯ มีรายได้ในปี 2564-2566 เท่ากับ 798 ล้านบาท 1,210 ล้านบาท และ 1,713 ล้านบาท โดยรายได้ที่เติบโตแต่ละปี มาจากการเปิดสาขาใหม่ ประกอบกับการส่งเสริมการขาย ขณะที่บริษัทสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น %GPM ที่ระดับ 31.6% 42.8% และ 45.2% ตามลำดับ ส่งผลให้พลิกจากขาดทุนสุทธิ 85 ล้านบาท ในปี 2564 เป็นกำไร 38 ล้านบาท ในปี 2565 และ 141 ล้านบาท ในปี 2566 คิดเป็น %NPM ที่ระดับ -10.5% 3.2% และ 8.2% ตามลำดับ สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2567 มีรายได้ 1,097 ล้านบาท +41%YoY จากการเพิ่มขึ้นของสาขาใหม่ ประกอบกับการรับรู้รายได้จากการเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ใหม่ ขณะที่ต้นทุนค่าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และการให้ส่วนลดค่าอาหารแก่ลูกค้า ทำให้ %GPM ที่ระดับ 44.5% ลดลงจาก 46.2% ในงวด 6 เดือน ปี 2566 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท +38%YoY คิดเป็น %NPM ที่ระดับ 9.2% ลดลงจาก 9.5% ใน 6 เดือนปี 2566

จำนวนหุ้น IPO 159 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.1% ของหุ้นทั้งหมด มูลค่าการเสนอขาย 1,065.3 ล้านบาท Par 0.50 บาท ราคา IPO คิดเป็น P/E 24.13 เท่า เทียบกับบริษัทคล้ายคลึงกันได้แก่ AU 33.84x, MAGURO 31.98x วัตถุประสงค์การระดมทุน 1. ขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋ ร้าน Ohkajhu Wrap & Roll และ ร้าน Oh! Juice และ/หรือการขยายสาขาสำหรับธุรกิจหรือแบรนด์ใหม่ๆ ปรับปรุงสาขา และขยายช่องทางการจำหน่าย 2. ลงทุนในการก่อสร้างครัวกลางแห่งใหม่ และการพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงห้องล้างผักและเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 3. ลงทุนและพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และ 4. ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน