ส่งออกส.ค.โต 7% ดีเกินคาด บาทแข็งไม่กระทบ เป้าปีนี้ขยายตัว 2%

HoonSmart.com>>กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกเดือนส.ค.โต 7% ดีกว่าคาดที่ 6% ดีทุกหมวดสินค้า พลิกกลับมาเกินดุล รวม 8 เดือนขยายตัว 4.2% ลั่นเงินบาทแข็งไม่กระทบปีนี้ ลุ้นโตทะลุ 2% ด้านสภาผู้ส่งออกหวั่นเงินบาทแข็งกระทบส่งออกปลายปีนี้ถึงต้นปี 68 ด้าน ADB หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.3% จาก 2.6% บริโภคเอกชนชะลอ-ส่งออกฟื้นช้า  ส่วนปีหน้าเหลือ 2.7%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนส.ค.2567 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 26,182 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) จากที่ตลาดคาดโต 6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,917 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.9% ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 264.9 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออกรวม 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.2567) มีมูลค่ารวม 197,192 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.2%  ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 203,543 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5% ส่งผลให้ไทยยังคงขาดดุลการค้า 6,351 ล้านดอลลาร์

สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในระยะหลังนั้น ยังไม่มีผลให้ต้องปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ยังคงเป้าหมายเดิมที่ 1-2% ที่มูลค่าราว 290,700 ล้านดอลลาร์ และมีโอกาสจะขยายตัวได้มากกว่า 2% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักเพิ่มขึ้น

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก  กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าในระยะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี คือ เดือนพ.ย. ธ.ค. และต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 2568 มองว่าเงินบาทแข็ง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงมากต่อการส่งออกในระยะหลังจากนี้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ ในรายงาน Asian Development Outlook ฉบับเดือนก.ย.อยู่ที่  2.3% จากเดือนเม.ย.คาดไว้ 2.6% และมีการปรับลดปี 2568 ลงจาก 3% มาอยู่ที่  2.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% ในปีนี้และ 1.3% ในปีหน้า

เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แต่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอลง ส่วนการส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคและการลงทุนภาครัฐและเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่ยังคงสูงขึ้น มาตรการภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในระยะสั้น

นอกจากนี้ยังมีหลายปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง หนี้ SME  ปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน สถานการณ์ทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแผนการลงทุนของภาครัฐ

ขณะเดียวกัน ADB ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก  คาดว่าภูมิภาคจะเติบโตอยู่ที่ 5.0% ดีขึ้นจากเมื่อเดือนเม.ย.คาดที่ 4.9%  ส่วนปีหน้ายังคงขยายตัว 4.9% เช่นเดิม สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่  3.2%