HoonSmart.com>>บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ CGSI จัดโรดโชว์กัวลาลัมเปอร์ 19-20 ก.ย นักลงทุนมาเลเซียส่วนใหญ่ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนตลาดหุ้นไทยเป็น Neutral จาก Underweight ชอบหุ้นอุปโภคบริโภคและกลุ่มการแพทย์ ลดกลุ่มธนาคาร แนะหุ้น Top pick ได้แก่ AMATA, BBL, BCH, CBG, CPALL, CPN, CRC, KBANK, KLINIQ, PTTEP,SIRI รมว.คลัง-ผู้ว่าธปท.นัดคุยสัปดาห์หน้า เรื่องดอกเบี้ย ค่าเงินและกรอบเงินเฟ้อ
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ได้เดินทางไปพบลูกค้าที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 67 ทั้งนี้พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นไทยเชิงบวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับครั้งก่อนหน้านี้ที่เดินทางไปพบลูกค้าเมื่อช่วงเดือนมิ.ย.2567 ที่ผ่านมา
การโรดโชว์ครั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ “คงน้ำหนักการลงทุน” (Neutral) ในตลาดหุ้นไทย จากเดิมที่ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา “ลดน้ำหนักการลงทุน” (Underweight) สำหรับประเด็นหลักที่ลูกค้าให้ความสนใจคือ เรื่องกองทุนรวมวายุภักษ์, สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex), ความไม่แน่นอนทางการเมือง และหุ้นที่ควรซื้อ
ส่วนหุ้นที่ควรซื้อ ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเน้นลงทุนหุ้นในกลุ่มอุปโภคบริโภคและกลุ่มการแพทย์ ในขณะที่ลดน้ำหนักกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ฯเชื่อว่าการที่เงินลงทุนจากต่างประเทศทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นไทย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการรีบาวด์และเงินบาทที่แข็งค่า น่าจะทำให้กลุ่มธนาคารปรับตัวดีขึ้น จากสภาพคล่องของกลุ่มและจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.จนถึงขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกลุ่มธนาคารราว 2.1 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มการแพทย์และกลุ่มพาณิชย์มีเงินลงทุนเข้ามา 8 พันล้านบาท และ 3 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในกลุ่มพลังงาน, กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นในกลุ่มไอซีที, กลุ่มอาหาร, กลุ่มการแพทย์และกลุ่มธนาคาร ขณะที่ขายหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มพลังงานและกลุ่มขนส่ง
ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ระบุว่า เงินบาทไทยเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในช่วงต้นปี 2567 ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/2567 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ยกเว้นริงกิตมาเลเซีย ดังนั้นเงินบาทจึงมีความผันผวนสูงกว่าสกุลเงินของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค จึงเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 16 ต.ค. 2567
การที่เงินบาทไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้หุ้นที่เน้นธุรกิจในประเทศหรือ Domestic play ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าหุ้นที่มีธุรกิจในต่างประเทศหรือ External exposure เช่น ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นจึงเน้นลงทุนในกลุ่มอุปโภคบริโภค, กลุ่มธนาคาร และหุ้นปลอดภัย (defensive) ที่ยัง underperform รวมถึงหุ้นที่มีคะแนน ESG สูง เพราะน่าจะเป็นหุ้นที่เข้ามาอยู่ในเรดาร์ของกองทุนรวมวายุภักษ์
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI มองว่า ไทยและสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีกในปี 67-68 จึงมองเป้าดัชนี SET สิ้นปี 68 อยู่ที่ 1,630 จุด เท่ากับ P/E 16 เท่าในปี 68 หรือ -0.75SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี ส่วนหุ้น Top pick ประกอบด้วย AMATA, BBL, BCH, CBG, CPALL, CPN, CRC, KBANK, KLINIQ, PTTEP และ SIRI
ตลาดหุ้นวันที่ 25 ก.ย.2567 ดัชนีทะยานขึ้นไปสูงสุดแตะ 1,471.69 จุด เพิ่มขึ้น 9.59 จุด ก่อนเจอแรงเทขายทำกำไร กดดัชนีลงไปต่ำสุดที่ 1,460.23 จุด ติดลบ 1.87 จุด และย่ำอยู่บริเวณ 1,463 จุดบวกเล็กน้อย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่าจะมีการนัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้า ในภาพใหญ่เรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญกับทุกคน และสถานการณ์เงินบาทแข็ง ซึ่งเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) ถือว่าแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน แม้ว่าแข็งเนื่องจากเฟดลดดอกเบี้ย 0.5% แต่ไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก รวมถึงหารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อ หนึ่งในปัจจัยที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย กำหนดกรอบไว้ 1-3% แต่อยากเห็นใกล้ ๆ 2%
ด้านนางสาวพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง
ทั้งนี้ยอมรับว่าเงินบาทผันผวนมากขึ้น แข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐก่อน หลังเฟดลดดอกเบี้ยและมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค และที่สำคัญงเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค. รวมถึงราคาทองคำเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์