เฟดหั่นดบ.แรง 0.5% ลงยาวปี 69 กดดันไทย SETปิดไฮ ทรีนีตี้แนะกลุ่มเด่น ถือทอง-บอนด์ต่อ

HoonSmart.com>> เฟดมอบของขวัญ Super-sized Cut ลดดอกเบี้ยพรวดเดียว 0.5% ส่งสัญญาณลงต่อพ.ย.-ธ.ค.ครั้งละ 0.25% รวมปีนี้ 1%ปี 68 อีก 1% ปี 69 ลด 0.5% ลั่นเศรษฐกิจสหรัฐไม่ถดถอย ดันราคาสินทรัพย์โลกขาขึ้น จับตา  BoE,BOJ  เงินไหลเข้าหุ้นเอเชีย SET ปิดไฮพุ่งขึ้น 1.33%ต่างชาติซื้อหุ้น-บอนด์ บาทแข็ง “เผ่าภูมิ” รมช.คลังชี้ดอกเบี้ยไทยควรล้อกับศก.โลก บล.ทรีนี้คาดกนง.ลง 0.25%ปลายปีนี้ คงเป้า SET กรณีดีสุด  1,480 แนะโฟกัสกลุ่ม  Domestic play กลุ่มสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน ถือทองคำ-พันธบัตรต่อ ป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.2567 มีมติ 11 ต่อ 1 ปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% มากกว่าปกติที่ปรับลดครั้งละ 0.25% นับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี และยังมีการ
คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ปรับลดอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้ หรือครั้งละ 0.25%ในการประชุมเดือนพ.ย.และธ.ค.รวมทั้งปี 1% ปี 2568 ลดลง 1% และปี 2569 ลดอีก 0.50%

การปรับลดดอกเบี้ยของเฟด อยู่บนคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปี 2567-2570 ขยายตัวปีละ 2.0% ส่วนระยะยาวคาดเติบโต 1.8%  โดยคณะกรรมการมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และการจ้างงานที่ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหว Soft Landing ไม่คิดว่าจะถดถอยหรือ Recession

การปรับลดดอกเบี้ยมากถึง 0.5% ไม่ทำให้ตลาดสินทรัพย์ต่างๆตื่นตกใจ กลับสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์โลก ทั้ง ราคาทองคำ บิทคอยน์ และหุ้นปรับตัวขึ้น ตลาดหุ้นเอเชียนำโดยญี่ปุ่น พุ่งขึ้น  2.13% ส่วนไทยทะลุแนวต้านสำคัญ  1,450 จุด ปิดที่จุดสูงสุดของวันที่ 1,454.84  จุดทะยานขึ้น 19.07 จุดหรือ +1.33% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 67,603.26 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อของนักลงทุน 3 กลุ่ม ต่างชาติยังคงซื้อหุ้นต่อเนื่อง 1,037.71 ล้านบาท จากวันก่อนเก็บมากกว่า 3,000 ล้านบาท ซื้อ TFEX  10,510 สัญญา และซื้อตราสารหนี้ 2,370 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยขายหุ้นต่อ 1,886 ล้านบาท

ด้านค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งในช่วงเย็นปิดที่ 33.07/12  ตลาดติดตามการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คืนนี้และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ)

ส่วนการลดดอกเบี้ยของไทยเสียงแตก นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกน่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง หลังจากเฟด ปรับลดลง 0.50% ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยจำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนทิศทางนโยบายการเงินของโลกด้วย  แต่การพิจารณาเป็นหน้าที่โดยตรงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีอิสระ  และการแข็งค่าของเงินบาทระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ  จากที่เคยอ่อนแถว 36-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ  ช่องว่างกว้างเกินไปควรดูแลเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะค่าเงินที่ผันผวนจนเกินไป ทำให้ผู้ส่งออกวางแผนธุรกิจได้ยาก

ส่วนตลาดหุ้นไทยที่ปิดไฮ เกิดจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ นำโดย DELTA  กลุ่มไฟฟ้า และนอนแบงก์ ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีแรงขายออกมาต่อเนื่อง จากความกังวลเฟดลดดอกเบี้ยมากถึง 0.5%  แต่กลับมีแรงซื้อห้นแบงก์ใหญ่ เช่น BBL ปิดเท่ากับวันก่อนที่ 155 และหุ้น KBANK  จากแรงเก็บหุ้นของต่างชาติ

ด้านนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ ประเมินเฟดลดดอกเบี้ย 0.50% ล่าสุดจะส่งผลต่อสินทรัพย์โลกใน 10 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. ฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลุ่มเทคโนโลยีฯ (Nasdaq) เริ่มกลับมาปรับตัว Outperform หุ้นกลุ่มวัฏจักร (Dow Jones) อีกครั้ง เนื่องจากมักเป็นกลุ่มที่ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนั้นยังอาจรวมถึงหุ้นขนาดกลางขนาดเล็ก (Russell 2000) ที่จะได้ประโยชน์ส่วนเพิ่มอย่างรวดเร็วจากการปรับตัวลงของดอกเบี้ยในตลาด

2. หุ้นไทย แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่ม Global cyclicals ไปอีกระยะ เช่นกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี แม้ Valuation ส่วนใหญ่จะยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ความกังวลด้านเศรษฐโลกชะลอตัวมีโอกาสที่จะกดดันราคาต่อไปได้  หากต้องเลือก แนะนำโฟกัสการลงทุนไปที่กลุ่ม Domestic play เช่น ค้าปลีก อสังหาฯ ไฟแนนซ์ ที่ยังคงมี Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อไป

3. ประเมินสภาพคล่องของไทยที่คงค้างอยู่ในบัญชีเงินฝากในต่างประเทศหรือ FCD ขณะนี้กว่า 7.7 แสนล้านบาทจะเริ่มมีการทยอยไหลย้อนกลับเข้าสู่ประเทศมากขึ้น  บางส่วนน่าจะเข้าตลาดทุนไทยได้ ช่วยประคับประคองตลาดในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้

4. มองสภาพคล่องส่วนเกินที่เตรียมจะไหลเข้ามามากขึ้นในช่วงถัดไป เมื่อเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และ Valuation ที่ยังคง Laggard หุ้นขนาดใหญ่อย่างมากในการ Rally ของหุ้นไทยรอบนี้ จะทำให้มีโอกาสเห็นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (sSET & MAI) กลับมา Outperform อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้

5. ทองคำเป็นสินทรัพย์ผู้ชนะที่สำคัญจากผลการประชุมเฟดล่าสุด เนื่องจากขาหนึ่งจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยที่มากกว่าคาด ส่วนอีกขาหนึ่งจะได้ประโยชน์จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอที่สูงขึ้น หากราคาทองตกลงมาในช่วงสั้นมองเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับการเพิ่มน้ำหนัก

6. มองแนวโน้ม Bond yield สหรัฐฯมีโอกาสไหลลงต่อ โดยเฉพาะรุ่นระยะสั้น  นักลงทุนที่มีกำไรจากการถือครองพันธบัตรสหรัฐมาก่อนหน้านี้ แนะนำให้สามารถ Let profit run ต่อไปได้

7. ผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือ USD นั้น ประเมินค่อนข้างยาก เนื่องจากขาหนึ่งอาจถูกกดดันจากปรากฏการณ์ USD carry trade ที่อาจจะดำเนินต่อไป แต่ในอีกขาหนึ่งนั้น อาจมีผู้ที่เป็นกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอโยกเงินเข้าสู่ Safe havens ซึ่งเงิน USD ถือเป็นหนึ่งในนั้น

8. การปรับลดดอกเบี้ยของเฟด 0.50%  ยิ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นของเราที่ประเมินมาตลอดว่าธปท.จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้  บนสมมุติฐานการคำนวณระดับเป้าหมาย SET Index โดยเป้าหมายกรณีดีสุดจะอยู่ที่ระดับ 1,480 จุด

9. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยมีแนวโน้มปรับตัวลงตามสหรัฐฯ ผู้ที่ถือครองตราสารหนี้ไทยอยู่ สามารถ Let profit run ต่อไปได้เช่นกัน

10. การปรับลงของ Bond yield ไทยที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปนั้น ยังส่งผลให้มาตรวัด Dividend yield gap ของตราสารที่มีคุณลักษณะคล้ายพันธบัตรเช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แนะนำ Overweight ตราสารเหล่านี้ต่อไปด้วยเช่นกัน

นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่าหุ้นวันนี้ปรับตัวขึ้นได้ดีเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย หลังเฟดลดดอกเบี้ย 0.50% ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในเอเชีย  ทำให้ Fund Flow ไหลเข้ามาในเอเชีย และการลดดอกเบี้ยก็เป็นบวกต่อธุรกิจด้วย

“หุ้นขึ้นได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ได้แรงหนุนนำจากหุ้น DELTA และ GULF  ดันดัชนีฯได้กว่า 4 จุด ส่วนกลุ่มธนาคารฉุดตลาด  ดอกเบี้ยขาลงทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้ ตลาดยังแรงหนุนจากรัฐบาลตั้งบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่  ประชุมนัดแรกในสัปดาห์หน้า ทำให้ตลาดยังมีลุ้นข่าวดีต่อเนื่อง  แต่ต้องติดตามดอกเบี้ยไทย จะลดได้เมื่อไร หลังจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว”นายพงศ์ภัทรกล่าว

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) นายพงศ์ภัทร กล่าวว่า เทรนด์หลักยังปรับขึ้นได้ แต่จะชะลอการขึ้นเป็นระยะ ๆ จาก Fund Flow ยังไหลเข้าอยู่ และตลาดขึ้นมามากแล้ว หากเศรษฐกิจฟื้นจะหนุนตลาด ให้แนวรับ 1,435-1.430 จุด แนวต้าน 1,460-1,480 จุด