OR ต่อยอดธุรกิจ ผนึก’ซีพี’ คว้าสัมปทานบริหารพื้นที่พักผ่อนมอเตอร์เวย์ชลบุรี-พัทยา

HoonSmart.com>>”ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” (OR) เดินหน้าเสริมแกร่งผ่านการผสมผสานธุรกิจ Mobility-Lifestyle  ร่วมทุนเครือซีพี สัดส่วน 55%และ 45% เซ็นสัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่พักผ่อน (Rest Area) มอเตอร์เวย์ชลบุรี-พัทยา เสนอไอเดียอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมสะอาด สร้างความยั่งยืนให้กับโครงการในระยะยาว

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก  (PTTRM) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน คือ บริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด ระหว่าง PTTRM และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม   (CPE) โดย PTTRM ถือหุ้น 55% และ CPE ถือหุ้น 45% ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 150 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการเชิงพาณิชย์โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ช่วง ชลบุรี-พัทยา (Rest Area) เป็นระยะเวลารวม 32 ปี โดยลงนามในสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในวันนี้ (19 ก.ย.2567)

“การร่วมทุนครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ OR ในการสร้างความแข็งแกร่งผ่านการผสมผสานระหว่างธุรกิจ Mobility และ Lifestyle”

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า เดอะ เรส วิลเลจ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาแห่งนี้ให้เป็นต้นแบบของที่พักริมทางระดับโลก และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทย มีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลาย การออกแบบโครงการยึดหลัก Universal Design โดยผสานนวัตกรรมเข้ากับแนวคิดอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการในระยะยาว

นอกจากนี้โครงการยังมีจุดเด่น  อาคารยกระดับคร่อมเหนือมอเตอร์เวย์ (Crossover) ที่มีพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร เชื่อมทั้งสองฝั่งของโครงการ รองรับการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยออกแบบให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดผู้ใช้บริการให้แวะพักมากยิ่งขึ้น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา เป็นโครงการที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 93+500 ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยแบ่งพื้นที่บริการเป็น 2 ฝั่ง ทิศทางฝั่งขาออกกรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ 62 ไร่ ทิศทางฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ 59 ไร่ ปัจจุบันมีปริมาณจราจรผ่านพื้นที่โครงการมากกว่า 1 แสนคันต่อวัน นับเป็นที่พักริมทางแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการในรูปแบบ PPP

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาบริหารจัดการ และดูแลรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกของที่พักริมทางอย่างมีประสิทธิภาพ สัญญามีระยะเวลาดำเนินงาน 32 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง มีระยะเวลา 2 ปี โดยเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาแหล่งเงินทุน รวมทั้งออกแบบและก่อสร้างพัฒนาที่พักริมทาง และจัดให้มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในพื้นที่โครงการตามข้อกำหนด

ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา มีระยะเวลา 30 ปี เมื่อโครงการเปิดให้บริการ เอกชนมีหน้าที่บริหารจัดการ ดูแลและบำรุงรักษาที่พักริมทาง ตลอดจนอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ ผู้เดินทาง โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ที่กำหนด

ทั้งนี้กรมทางหลวงจะเร่งรัดเอกชนให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการภายในปี 2567 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วน เช่น ลานจอดรถ ห้องสุขา และพื้นที่พักผ่อน ในปี 2568 และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2569