SCB EIC หั่นจีดีพีปี’68 โต 2.6% แนะแก้หนี้รายย่อย-ดึง FDI พยุงศก.

HoonSmart.com>>SCB EIC คาดเศรษฐกิจปี’68 โต 2.6% จากเดิมกว่า 3% ต่ำกว่าโลกที่โต 2.8% กำลังซื้อในประเทศเหือดแห้ง นักท่องเที่ยวลดช้อปปิ้ง แนะระยะสั้นเร่งแก้หนี้ประชาชน ดึงเงินลงทุน FDI เข้าประเทศ ช่วยพยุงจีดีพีไม่ให้ไหลลงเร็ว แรงซื้อหุ้นเพิ่มของต่างชาติแค่ความเชื่อมั่นช่วงสั้นๆ ระยะยาวยังต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานของประเทศ  ด้านนายกฯ” แพทองธาร”ร่าย 10 นโยบายเร่งด่วน ทำทันที

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัย SCB EIC มองเศรษฐกิจโลกปี 2568 เติบโต 2.8% เป็นการโตที่ลดลงหรือ Soft landing จากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจะค่อนไปทางลบ เพราะมีการกีดกันทางการค้าสูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจยืดเยื้อออกไปอีก จากที่แต่ละประเทศพยายามที่จะปกป้องธุรกิจไว้ให้คนในชาติของตัวเอง และในระยะปานกลางโลกจะโตต่ำกว่าอดีต ส่วนหนึ่งจากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศกดดัน

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2568 โตแค่ 2.6% ซึ่งเติบโตช้าและต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก จากเดิมที่ SCB EIC เคยมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตมากกว่า 3% ก็มีการปรับลงมาเหลือ 2.9% และรอบนี้ปรับลงมาเหลือ 2.6% ส่วนปี 2567 น่าจะโต 2.5%

แม้การค้าและการผลิตสินค้าทั่วโลกจะเติบโตแต่จะทำการค้าขายกับไทย และให้ไทยผลิตลดลง เพราะสินค้าไทยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเก่า ปัจจุบันการส่งออกไม่ดี ทำให้ภาคการผลิตไม่ดีไปด้วย และลามไปถึงการจ้างงานที่ลดลง ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบถึงภาคบริการแล้วที่เริ่มมีการลดการจ้างงานนับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะภาคบริการใช้กำลังคนจำนวนมาก รวมถึงค่าจ้างของคนที่มีงานทำก็เริ่มลดลงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง ค้าปลีก

ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เอสเอ็มอีปิดตัวลงหมื่นราย โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสานมากสุด ภาคประมง ปิดกิจการมากสุดจากความเข้มงวดเรื่องการจับสัตว์น้ำ รองลงมาคือผู้ผลิตเหล็กเพราะถูกสินค้าจีนตีตลาดและธุรกิจโรงพิมพ์จากการเข้ามาของดิจิทัล และจากการสำรวจ เอสเอ็มอี 70% ยังมีความกังวลและไม่เชื่อมั่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส4 ไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2568

นอกจากนี้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ทั้งที่มาเองและมาแบบกรุ๊ปทัวร์ แต่การใช้จ่ายส่วนใหญ่ใช้ไปกับที่พัก และการสร้างประสบการณ์จากการท่องเที่ยวไม่ได้ซื้อของหรือช้อปปิ้งเหมือนเดิม

รวมถึงกำลังซื้อในประเทศแทบไม่เหลือแล้ว เพราะประชาชนมีหนี้สูง หนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% มีการนำเงินในอนาคตมาใช้ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อออกมาแต่จะดันเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก โดยมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะดันเศรษฐกิจได้เพียง 0.7% เท่านั้น โดยปีหน้าราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงจะซ้ำเติมรายได้ประชาชนอีก ปัจจุบันยอดขายรถลดลง หากเศรษฐกิจไม่ดี ค่าจ้างไม่ดี ไม่มีเงิน คนก็ไม่อยากสร้างภาระผูกพันระยะยาว

การกระตุ้นกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาท เป็นไปอย่างจำกัด แต่มีกำลังซื้อของคนรายได้สูง ทั้งจากในประเทศ และ ต่างชาติเข้ามา ซึ่งเริ่มจะดูดซับซัพพลายไปได้ระดับหนึ่งแล้ว

เศรษฐกิจไทย 10 ปีที่ผ่านมาโตจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก แต่เงินที่นำมาใช้บริโภคมาจากการเป็นหนี้ คือนำเงินในอนาคตมาใช้ แต่ปัจจุบันหนี้เต็มที่แล้ว ธนาคารปล่อยกู้ไม่ได้แล้ว คุณภาพหนี้แย่ลง การขยายตัวของสินเชื่อติดลบ ทำให้เงินที่สร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจลดลง และจากการสำรวจความคิดเห็นภาคประชาชนในปีหน้าจะลดการใช้จ่ายเรื่องการท่องเที่ยว และลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย

แม้กนง. มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. และต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน แต่จะไม่ช่วยเรื่องการแก้หนี้ครัวเรือนได้เท่าไหร่นัก เพราะรายได้คนยังไม่เพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วหลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยคลี่คลาย ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อย จากปัจจัยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม Easing cycle ของสหรัฐฯ โดยประเมินเงินบาทปี 2567 และ ปี 2568 ในกรอบ 34 – 34.5 และ 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะเริ่มกลับสู่กรอบและเพิ่มขึ้นเกิน 1% ได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2567 และในปี 2568 เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จากราคาเนื้อสัตว์ และอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดร.สมประวิณ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสปรับตัวลงแรงและเร็ว หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง การเมืองไทยไม่มีความต่อเนื่อง ภาคการเงินตึงตัวสูงเพราะมีหนี้เสียสูง รวมถึงการส่งออกโตต่ำกว่าอดีตจากความสามารถการแข่งขันที่ลดลง การลงทุนทางตรงและการลงทุนของเอกชนโตต่ำ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ไม่มาก โดยจากการทดสอบโอกาสเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงแรงและเร็วมีความน่าจะเป็น 50% แต่ต้องระวัง

การที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้ และลดความเสี่ยงจากการปรับตัวลงแรงและเร็วในระยะสั้นๆ นี้ คือ ต้องแก้หนี้ครัวเรือนให้ลงมาอยู่ระดับ 50% จากปัจจุบัน 90% เพื่อประชาชนจะได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์กำลังเร่งอย่างเต็มที่ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การยืดหนี้ แต่ระยะยาวรัฐบาลต้องหาทางเพิ่มรายได้แก่ประชาชนให้มากขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น โดยปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39.4 ล้านคน แต่ต้องหามาตรการให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

การดึงเงินลงทุนทางตรงหรือ FDI เข้ามาในประเทศให้ได้ โดยมาตรการต่างๆ ที่อยู่ในแผนการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งระยะสั้นและยาว โดยจะต้องเชื่อมซัพพลายเชนของธุรกิจในทุกระดับให้ถึงกัน เพื่อจะได้อานิสงส์ร่วมกันในทุกกลุ่มรายได้

ในขณะที่เงินลงทุนในตลาดหุ้นที่เห็นว่าต่างชาติเข้ามาซื้อมากขึ้นนั้น มองว่าเป็นเพียงความเชื่อมั่นระยะสั้น และการปรับฐานระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วยังขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาว

วันที่ 12 ก.ย.2567  เมื่อเวลา 09.10 น. มีการประชุมเพื่อให้คณะรัฐมนตรี ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ใน 10 นโยบายเร่งด่วน ทำทันที

1.การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้าน และรถ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ และในระบบที่ไม่ขัดต่อวินัยการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม

2.ส่งเสริม และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์

3.ออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงาน และสาธารณูปโภค ผ่านการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และเร่งปรับปรุงกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรง พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้านขนส่งมวลชนจะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมใน กทม. เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย

4.สร้างรายได้ใหม่ด้วยนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค

5.เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก

6.ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และราคาพืชผลการเกษตร

7.เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์)

8.แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด และครบวงจร

9.เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเพิ่มการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ ช่วยเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที

10.ส่งเสริมศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคนไร้รัฐไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์