ต่างชาติพุ่งเป้าซื้อ KBANK 9 วันเฉียด 6 พันล. กลุ่มแบงก์เฮโลปันผลระหว่างกาลแจ่ม

HoonSmart.com>>หุ้นไทยขอพักเหนื่อยติดลบ 8 จุด หลังจากวิ่งมาหลายวันและไหลลงตามภูมิภาค สวนทางต่างชาติซื้อต่อเนื่อง 967.63 ล้านบาท บล.เอเซียพลัสเก็บข้อมูลต่างชาติซื้อหุ้นและ NVDR  นับจากวันที่ไทยได้นายกฯคนใหม่ (16-28 ส.ค.67) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ครองแชมป์ซื้อมากที่สุด 5,755 ล้านบาท ได้กำไรถึง 10% ตามด้วย CPALL 2,414 ล้านบาท กำไร 6.7% ล่าสุดกลุ่มแบงก์จ่ายปันผลระหว่างกาลปี 67 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1-2% KKP แจกมากที่สุด 2.76% 

ตลาดหุ้นวันที่ 29 ส.ค.67 ดัชนีปรับตัวลง 8.31 จุด หรือ -0.61%ปิดที่ระดับ 1,357.41 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเพียง 35,396.55 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อสุทธิ 967.63 ล้านบาท ต่อเนื่องจากวันก่อนซื้อมากกว่า 1,700 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุน 3 กลุ่มขายทำกำไร นำโดยนักลงทุนไทยขาย 611.55 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 235.88 บาทและสถาบันไทยขาย 120.51 ล้านบาท ขณะที่ต่างชาติขายตราสารหนี้ 1,319 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทอ่อนเล็กน้อยปิดที่  34.01 บาท/ดอลลาร์

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นวันนี้พักตัวช่วงสั้น หลังปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย  รับแรงกดดันจากบริษัทอินวีเดีย (NVDIA) ที่ทรุดลงแรง ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้บวกได้เล็กน้อย ท่ามกลางรอดู GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ ที่จะออกมาในคืนนี้ ส่วนศุกร์นี้ติดตามตัวเลข PCE ของสหรัฐ

นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.) MSCI Rebalance มีผลทำให้นักลงทุนเทขายหุ้น AWC,GPSC,IVL และ EA ออกมาก่อนเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินไหลออกประมาณ 300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากการหลุดจาก MSCI Global Standard  ทำให้ AWC ปิดที่  3.50  บาท -0.08 บาทหรือ-2.23% GPSC ปิดที่ 40.25 บาท ลดลง 0.75 บาทหรือ-1.83% IVL ปิดที่ 18 บาท ติดลบ 0.40 บาท หรือ -2.17% และ EA ปิดที่ 6.70 บาท ร่วงลง 0.50 บาท หรือ -6.94%

ด้านฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส สรุปหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นโดยตรงและผ่าน NVDR ในช่วงวันที่ 16 –28 ส.ค. 2567 (7 วันทำการ) หลังจากได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 พบว่าหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มียอดซื้อสุทธิมากที่สุด 5,755 ล้านบาท ให้อัตราผลตอบแทน 10% รองลงมาคือ CPALL 2,414 ล้านบาท ผลตอบแทน 6.7% , CPF 1,997 ล้านบาท ผลตอบแทน 1.2%, GULF 1,487 ล้านบาท ผลตอบแทน 6.8%, BBL 960 ล้านบาท ผลตอบแทน 9.2% , KTB 936 พันล้านบาท ผลตอบแทน 3.9%, BANPU 543 ล้านบาท ผลตอบแทน 10.7%, TU 534 ล้านบาท ผลตอบแทน 0.7% ,BEM 523 ล้านบาท ผลตอบแทน 0.6% และ TOP 465 ล้านบาท ผลตอบแทน 5.4%

ขณะที่วันที่ 29 ส.ค. หุ้น KBANK ยังคงมีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดของวัน 1,974.54 ล้านบาท ราคาปิดที่ 143.50 บาท ซื้อขายที่ P/E 7.53 เท่าและ P/BV 0.62 เท่า แซงหน้า BBL  ปิดที่ 142 บาท  -0.50 บาท เทรดที่ P/E 6.39 เท่าและ P/BV 0.50 เท่า

ปัจจุบันหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศข่าวดี เรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2567 เมื่อเทียบกับราคาปิดวันที่ 29 ส.ค. พบว่า KKP จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 1.25 บาท ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด 2.76% ตามด้วย TISCO 2.11% SCB 1.86%  BBL 1.41% และ KBANK 1.05% ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง ตามผลกำไรสุทธิ  ส่วนธนาคารกรุงไทย (KTB) จ่ายเงินปันผลปีละ 1ครั้งตอนสิ้นปี