ASIFMA แนะไทยศึกษาตลาดทุนญี่ปุ่น ฟื้นเชื่อมั่น-เพิ่มนักลงทุนรายย่อย

HoonSmart.com>>สมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินเอเชีย คาดหุ้นไทยมีโอกาสโตช่วงสิ้นปี แนะศึกษามาตรการกระตุ้นตลาดทุน เรียกความเชื่อมั่น จากประเทศญี่ปุ่น ถอดบทเรียนผลกระทบจากการกำกับดูแลจากจีน เกาหลีใต้

ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากตลาดทุนจีนมีสภาพคล่องลดลง และควรเรียนรู้จากกรณีศึกษาประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ JPX แนะนำให้บริษัทต่างๆ สร้างธรรมาภิบาลให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อใจระหว่างบริษัทและผู้ลงทุน นอกจากนี้ โครงการปฏิรูปเงินบำนาญที่เหมาะสมจะดึงดูดให้ประชาชนลงทุนมากขึ้น เพราะมีตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลาย และมีแรงจูงใจทางภาษี

Mr. Lyndon Chao กรรมการผู้จัดการ และ Head of Equities and Post Trade สมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินเอเชีย (ASIFMA) กล่าวในหัวข้อ “ตลาดทุนไทยปรับ-รับโลกเปลี่ยน”


Mr. Lyndon Chao กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลการลงทุนเพิ่มเติมเข้ามาอาจส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดทุนลดลง เช่น กรณีประเทศจีน และเกาหลีใต้ ดังนั้นการนำมาตรการกำกับดูแลใดมาใช้ ก็ควรคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาด้วยเช่นกัน

สำหรับ ที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยมีความสามารถในการปรับตัว แม้ว่าจะถูกกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานเช่นเดียวกัน ทำให้สภาพคล่องลดลง สถานการณ์เครดิตลดลง ราคาหุ้นตกต่ำ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และการเมือง ส่งผลให้ ประชาชนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง และผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในบรรษัทภิบาลลดลง แต่ตลาดทุนไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดทุน ASEAN ถึง 37%

กลุ่มเฮลท์แคร์-ท่องเที่ยวจุดแข็งไทย
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “ตลาดทุนไทยปรับ-รับโลกเปลี่ยน”ว่า กลุ่มธุรกิจสุขภาพและการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย และตลาดทุนประเทศไทยเริ่มมีผลิตภัณฑ์ด้านการเงินการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก อันจะเห็นได้จากการที่มีบริษัทมากกว่า 160 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทที่ลงทุนในเศรษฐกิจใหม่ และมีความหลากหลายในขนาด ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ ยังมีถึง 14 บริษัทได้รับการจัดระดับให้อยู่ในระดับ Gold Class S&P Global 2024 Sustainability Yearbook

หากพิจารณาแล้วจะพบว่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to earning ratio) ของตลาดทุนไทยครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี ดังนั้นการเสริมสร้างให้ตลาดทุนไทยเติบโตในสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงนี้ ความมั่นคงของรัฐบาลและนโยบายการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญ

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทายสำหรับตลาดทุนไทย เพราะมีทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย ความไม่มั่นคงทางการเมือง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก การที่ประเทศไทยจะสามารถสร้างสมดุลได้นั้น จะต้องมองถึงมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญแก่บรรษัทภิบาลเพิ่มขึ้น

เปิดเว็บพอร์ทัลกระตุ้นตลาดพันธบัตร
ศาสตราจารย์ ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้ ก.ล.ต. กำลังร่วมมือกับกระทรวงการคลังภายใต้แนวคิดเปลี่ยนเงินออมไปเป็นการลงทุน ขั้นตอนแรกก็คือ การกระตุ้นตลาดพันธบัตรโดยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น เว็บพอร์ทัลที่จะทำให้การข้อมูลหรือช่องทางการลงทุน ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง มาตรการที่จะออกมา เช่น สามารถเปิดบัญชีกระตุ้นการซื้อขายให้รวดเร็วขึ้น และทำให้กระบวนการเป็นมาตรการเดียวกัน หรือ Single form ทั้งในกลุ่มผู้กำกับดูแลและผู้เล่นในตลาด มาตรการต่อไปจะให้พวกมืออาชีพเข้าสู่เซ็กเมนท์รายย่อยมากขึ้น

นอกจากนี้ กำลังหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้เพิ่มมาตรการจูงใจด้านภาษีให้กับผู้ลงทุน และมาตรการเพิ่มสภาพคล่องอื่น ๆ เช่น ขยายกองทุนวายุภักษ์ให้ขายกองทุนรวมมูลค่า 1 แสน – 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถจะหนุนตลาดได้ในขณะที่รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากมาตรการของรัฐบาลในช่วงต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตลาดทุน ซึ่งทำให้ออกนโยบายดูแลชอร์ตเซล รวมทั้งกำหนดแนวทางการสอบสวนความผิดปกติต่าง ๆ ในการซื้อขาย เพื่อเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม โดยมีมาตรการ 4 กลุ่ม ได้แก่การดำเนินการให้สามารถรู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ การทบทวนพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น เพิ่มลักษณะคำสั่งที่ไม่เหมาะสมและให้มีมาตรการ Minimum Order Resting Time เพื่อป้องกันการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่เกินไป การควบคุมความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ เช่น ใช้ Dynamic Price Band และการซื้อขายแบบ Auction สำหรับหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย และการทบทวนเกณฑ์การดำเนินการกับลูกค้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม รวมทั้งการเปิดเผยรายชื่อผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งทราบ