ฟิทช์คงเรทติ้ง IRPCที่ BBB+ ‘หนี้-ลงทุน’ลด กระแสเงินสดดีขึ้น

HoonSmart.com>>”ไออาร์พีซี” (IRPC ) มีอันดับเครดิตที่ ‘BBB+ ฟิทช์ เรทติ้งส์ฯมองแนวโน้มเสถียรภาพ  อัตราส่วนหนี้สินลดลงคาดต่ำกว่า 6.5 เท่า ภายในปี 68  กระแสเงินสดดีขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง คาดว่า EBITDA จะดีขึ้นเป็นประมาณ 8,500 ล้านบาทในปี 67 (ครึ่งปีอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัท ไออาร์พีซี (IRPC )ที่ ‘BBB+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ‘F2(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตทั้งหมดของ IRPC ตามแผนพัฒนาธุรกิจของฟิทช์

การประกาศคงอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC ยังคงปรับตัวลดลงตามที่เคยคาดการณ์ไว้ ไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 6.5 เท่า ภายในปี 2568 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ IRPC ที่ ‘BBB+(tha)’ ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นสองอันดับ จากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ IRPC อยู่ที่ bbb-(tha) ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัท ปตท.  (มีอันดับเครดิตที่ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า จะให้การสนับสนุนแก่ IRPC

ฟิทช์คาดว่า หนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ของ IRPC จะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่า ณ สิ้นปี 2567 จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 9.1เท่า ณ สิ้นมิ.ย. 2567 (ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่12.5 เท่า) แต่ยังคงอยู่ระดับสูงกว่า 6.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต แต่คาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 6.5 เท่า ในปี 2568 จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง

อย่างไรก็ตามอุปสงค์ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ ที่อ่อนแอ อาจทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าออกไป ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 5 เท่าในปี 2569 แต่อาจจะอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาดได้ ถ้ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท อัตราส่วน EBITDA net leverage อยู่ในระดับสูงในปี 2566 เป็นผลมาจาก EBITDA อ่อนแอ และหนี้สินที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงกว่าที่คาด

ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอ่อนตัวในปี 2567 แม้ว่าจะดีขึ้นบ้างจากปี 2566 ที่อยู่ในระดับต่ำ ฟิทช์คาดว่า ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศจีน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง และสภาวะกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ จะยังคงกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี  เชื่อว่าความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะจากการที่คาดว่า GDP ของจีนจะยังคงต่ำกว่าในช่วงก่อนการเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อย่างน้อยจนถึงปี 2569 ในขณะที่กำลังการผลิตใหม่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกำลังการผลิตโพลิโพรพิลีน  คาดว่ากำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม น่าจะเริ่มลดลงหลังจากปี 2567  น่าจะทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ค่อยๆ ฟื้นตัว

“ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ IRPC จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 8.5 พันล้านบาท ในปี 2567 (ครึ่งปีอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท) จากระดับที่ต่ำมากในปี 2563 (5.2 พันล้านบาท) โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่ค่อยๆ ฟื้นตัว จากระดับต่ำในปี 2566 และธุรกิจกลั่นน้ำมันที่ยังคงแข็งแกร่ง EBITDA น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเป็นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 จากอุปสงค์ และอุปทานในธุรกิจปิโตรเคมีที่สมดุลมากขึ้น  คาดว่าค่าการกลั่นในปี 2568 จะยังคงอยู่ในระดับที่ดี ที่ประมาณ 5-5.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล”

IRPC น่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเฉพาะในโครงการที่จำเป็นและได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว (Committed project) ในปี 2567-2568 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาวะตลาดยังอ่อนแอและอัตราส่วนหนี้สินยังคงสูง ได้แก่ โครงการปรับปรุงการผลิตเพื่อที่จะรองรับมาตรฐานน้ำมัน EURO5 หรือ UCF project และค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา โดยบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาทในปี 2567 และ 1.1 พันล้านบาทในปี 2568 ลดลงจาก 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566  แต่ฟิทช์คาดว่า IRPC น่าจะกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากสถานะทางการเงินได้ปรับตัวดีขึ้น เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดพิเศษ (Specialty) ให้มากขึ้น

ฟิทช์คาดว่า IRPC จะยังคงเทอมการค้าในการซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท.ที่ 90 วัน อย่างน้อยจนถึงปี 2568 หลังจากเพิ่มเทอมการค้าฯ เป็นประมาณ 90 วันโดยเฉลี่ยในปี 2566 ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง และลูกหนี้การค้าจากกองทุนน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดรับจากการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจาก EBITDA ที่อ่อนตัว และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้หนี้สินสุทธิลดลง เทอมการค้าฯ 90 วันจากปตท. ได้มีต่ออายุไปอีกหนึ่งปีจนถึงสิ้นปี 2567 และสามารถต่ออายุได้อีก จากการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย

โครงการ UCF ช่วยเพิ่มประสิทธิการกลั่น IRPC คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2567 จะเพิ่มหน่วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่น (Upgrading units) และเพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นน้ำมัน (Refinery complexity) ค่า Nelson Complexity Index ของโรงกลั่นของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 จาก 8.6 ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนค่าการกลั่นที่สูงขึ้นตลอดวัฏจักรของอุตสาหกรรม

IRPC มีความได้เปรียบในการแข่งขันในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจผลิตปิโตรเคมีแบบครบวงจรที่มีความชำนาญและมีประวัติอันยาวนานในประเทศไทย นอกจากนี้การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาและแผนการลงทุนในอนาคต ยังนำไปสู่การผลิตปิโตรเคมีที่มากขึ้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่าย ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และความผันผวนของรายได้ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่ไม่ได้ผลิตแบบครบวงจร แต่รายได้ส่วนใหญ่จะยังคงมาจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80% ของรายได้รวมสุทธิในปี 2567  มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-value-added products) เป็น 38%ของปริมาณผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ขายในปี 2567 (ปี 2566 อยู่ที่ 33%)

อันดับเครดิตของ IRPC ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับต้นทุน และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไร และกระแสเงินสดของบริษัทฯ

IRPC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีหลักของ ปตท. ที่มุ่งเน้นทางด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream products) และใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ นอกจากนี้ ความสำคัญยังเห็นได้จากการที่ ปตท. ได้ขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ IRPC เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ในขณะที่แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านกฎหมาย (Legal incentive) อยู่ในระดับต่ำ

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ  ได้แก่ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ปี 2567-2571 ที่ราคา 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล , 70 เหรียญสหรัฐฯ ,65 เหรียญสหรัฐฯ และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2571 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ IRPCใช้กำลังการกลั่นน้ำมันที่ประมาณ 192,000 ถึง 195,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2567-2568 Gross integrated margins (ธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี) ที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากมูลค่าสต๊อกน้ำมัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2567 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2568 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาทในปี 2567 และปีละ 2-4 พันล้านบาทในปีต่อๆ ไปเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบจากปตท. 90 วัน ต่อเนื่องในปี 2567-2568 และค่อยๆ ลดลงเหลือ 30 วันภายในปี 2570

ทั้งนี้ IRPC มีหนี้สินคงค้าง ณ สิ้นปี 2566 จำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท โดยจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน สภาพคล่องได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวน 6.2 พันล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้ได้จาก ปตท. จำนวน 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (Committed working-capital facilities) มูลค่าประมาณ 3.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567