HoonSmart.com>>ส.อ.ท.เข้าพบนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับอุตสาหกรรม 5 ด้าน แบบเร่งด่วน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อนำเสนอ 5 แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไทย และขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน ทั้งระยะเร่งด่วน กลาง และระยะยาว
ในส่วนของระยะเร่งด่วน ส.อ.ท. เสนอแนะว่า
1.ปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาด โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่มีคุณภาพหรือไม่มีมาตรฐานที่มีการนำเข้าผ่านด่านศุลกากร,ตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาด และอื่นๆ
2.ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย เพิ่มแต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า MiT ผ่านวิธี e-bidding จากเดิม 5% เป็น 10% เป็นเวลา 2 ปี และอื่นๆ
3.ลดต้นทุนด้านการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานด้านต้นทุนพลังงาน
4.ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ผ่านแนวทางต่างๆ เช่น ออกมาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง,จัดสรรวงเงินเฉพาะเพื่อช่วยเหลือ SME ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้,ผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ,ออกมาตรการสินเชื่อพิเศษ 2 – 3% คงที่เป็นเวลา 3 ปี,ขอให้สถาบันการเงินเพิ่มระยะเวลาการผ่อน รวมทั้งปรับลดค่าธรรมเนียมอื่นๆ
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังมีการส่งเสริมและผลักดัน SME สู่ Smart SME ด้วย 4 GO คือ GO Digital สนับสนุนการลงทุนพัฒนาไปสู่ Digital Transformation 4.0 ,GO Innovation สร้างหน่วยงานกลางและหน่วยงานความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจนวัตกรรมที่เข้มแข็งในแต่ละภูมิภาค ,GO Global สร้างโอกาสด้านการตลาดต่างประเทศให้กับ SME ที่มีศักยภาพ และGO Green: การให้ความรู้แก่ SME และสนับสนุนให้ SME ปรับธุรกิจไปสู่ธุรกิจสีเขียว
5.ส่งเสริมการค้าชายแดน และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ อาทิฝดจเจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพิจารณายกระดับจุดผ่อนปรนพิเศษทางการค้าและจุดผ่อนปรนทางการค้า ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร
สำหรับการดำเนินการระยะกลางและระยะยาว ส.อ.ท. มี 3 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1) ควรมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รักษาฐานการผลิตยานยนต์ของไทย ผ่านวิธีการต่างๆ
2) ควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย ผ่านอุตสาหกรรมต่างๆ
3) ควรมีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ