HoonSmart.com>> ก.ล.ต.เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กางไทม์ไลน์ปรับปรุงเกณฑ์ต่อเนื่อง พร้อมคุ้มครองผู้ลงทุน หนุนกระตุ้นการระดมทุนผ่าน Investment Token เผยมีผู้สนใจอยู่ระหว่างหารือ 16 ราย
น.ส.จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก.ล.ต.จึงได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการระดมทุนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้มีคุณภาพ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
ในเดือนส.ค.2567 ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมอีก 4 เรื่องสำคัญ ทั้งด้านการสนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่
1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้)
2. โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox)
3. การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
4. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules) เพื่อให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนด Exchange rules ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างดำเนินการ 10 เรื่อง ซึ่งเกณฑ์ที่คาดว่าจะออกมาใช้ได้ภายในไตรมาส 3-4 ปี 2567 ได้แก่
1.การขออนุญาต ICO แบบกลุ่ม (Shelf Filing) เพื่อรองรับการระดมทุนของอุตสาหกรรม soft power ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการค่ายเพลง สนใจออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยมีเข้ามาหารือแล้ว 1-2 ราย
2.หลักเกณฑ์สนับสนุนให้มีผู้ใช้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ในประเทศไทย เพื่อจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะมีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันมีมาแล้ว 2 ราย
3.การขอรับใบอนุญาตเพื่อสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์ช่วยขาย Investment Token ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาหารือจำนวน 16 ราย เช่น Project-based ICO เช่น การลงทุนฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้ได้ Carbon Credit , การระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กิจการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
4.หลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
“ปัจจุบันการระดมทุน ICO ประสบความสำเร็จแล้ว 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 5.1 พันล้านบาท ได้แก่ Real estate-backed Token โดย SPV 77 มูลค่า 2,400 ล้านบาท, Project-based Token โดยบริษัท สเปเชียล เดสทินี มูลค่า 265 ล้านบาท และ Real estate-backed Token โดยบริษัท เรียล เอสเตท เอกซ์โพเนนเชียล มูลค่า 2,400 ล้านบาท”นางสาวจอมขวัญ กล่าว
ส่วนเกณฑ์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ในไตรมาส 2/2568 ได้แก่
1.แนวปฏิบัติด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
2.แนวปฏิบัติ KYC ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
3.การจัดส่งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงมีส่วนที่อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นและพิจารณา อาทิ เปิดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการ Utility Token ที่มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการอุปโภคบริโภคบางลักษณะได้
นอกจากนี้ยังมีอีก 3 เรื่องที่อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นและพิจารณา ได้แก่
1.การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ ICO Portal ใช้ outsource ระบบงานได้เพิ่มเติม
2.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุน Investment Token ในระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ
3.เปิดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการ Utility Token ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภคบางลักษณะได้
“ก.ล.ต.ยังมีการหารือกับสรรพากร เพื่อพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ภาษี สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) ซึ่งสรรพากรรับเรื่องไว้แล้ว”น.ส.จอมขวัญ กล่าว