ซิงเกอร์ ลั่นมีเงินเพิ่มทุน SGC คืนหนี้หุ้นกู้ 3,700 ล.

HoonSmart.com>>ซิงเกอร์ ยันมีเงินเพิ่มทุนใน เอสจี แคปปิตอล ราว 2,800 ล้านบาท คืนหนี้หุ้นกู้ 3,700 ล้านบาทตามกำหนด ผู้ถือหุ้น-ลูกค้าสบายใจได้ เดินหน้าดันธุรกิจเทิร์นอะราวด์ เพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน ขยายพาร์ทเนอร์ คาดรายได้เข้าไตรมาส 1/68

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า ในการวางแผนทางการเงินของบริษัทฯจะพิจารณาทางเลือกที่รัดกุมที่สุด และไม่ส่งผลต่อแผนการดำเนินงานใดๆ จึงยืนยันว่าสามารถที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ย. 2567 จำนวน 2,000 ล้านบาท และอีก 1,700 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 6 ก.พ. 2568 ได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ จากการที่บริษัท เอสจี แคปปิตอล หรือ SGC จะมีการเพิ่มทุนจำนวน ขอบอกว่าแผนการเงินในครั้งนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงที่สูง อัตราดอกเบี้ย 6.5% ขายให้กับนักลงทุนกลุ่มรายได้สูง จะเปิดให้จองวันที่ 2-4 ก.ย.นี้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย 6.5% เป็นไปตามอันดับเครดิตของซิงเกอร์ซึ่งอยู่ที่ BBB+ ซึ่งเรทติ้งระดับเดียวกันนี้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ก็จะอยู่ในระดับนี้ และวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ก็ชัดเจนว่าจะออกมาเพื่อระดมทุนไปใช้เพิ่มทุนในบริษัท เอสจี แคปปิตอล เท่านั้น เมื่อทาง SGC ทำการเพิ่มทุนเสร็จ ก็จะนำเงินมาใช้ชำระหนี้เดิมบางส่วนให้กับบริษัท จึงทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ในการชำระหนี้หุ้นกู้ข้างต้น และมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้การประกอบธุรกิจของบริษัทต่อไป

“การพิจารณาใดๆ ก็ตาม ซิงเกอร์ จะยึดเรื่องการคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การออกหุ้นกู้ระยะสั้นมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว และยืนยันว่าเรามีเงินพร้อมในการไถ่ถอนหุ้นกู้ นักลงทุนสบายใจได้ และนอกจากหุ้นกู้ 12 วันกำลังยื่นขอก.ล.ต.จำนวน 1,000 ล้านบาท บริษัทฯก็ยังไม่มีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มอีก”นายนราธิป กล่าว

นายนราธิป กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะทำการเพิ่มทุนในบริษัท SGC ตามสัดส่วนที่ซิงเกอร์ถือหุ้น 75% ซึ่งขณะนี้บริษัทมีสภาพคล่องพร้อมจะนำไปเพิ่มทุน 2,500 ล้านบาท และต้องการแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม จึงได้ทำการออกหุ้นกู้ระยะสั้น 12 วัน เพียงได้มา 300 ล้านบาทก็เพียงพอจากที่ขอวงเงินไว้ 1,000 ล้านบาท

สำหรับ การเดินหน้าธุรกิจของเราในอนาคตเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจให้เติบโตกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้ จะมุ่งเน้น 3 ด้านหลักๆ คือ 1. การเพิ่มยอดขาย 2.การลดต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งการนำธุรกิจเข้าไปอยู่บนดิจิทัล ก็จะช่วยลดต้นด้านต่างๆ ลงได้ และ 3.การขยายพาร์ทเนอร์

กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย

ด้านแรก การเพิ่มสินค้าที่มีความหลากหลาย หรือ New Product Mix เริ่มจากการทำแคมเปญล็อคโฟน หรือ Locked Phone บริหารโดย บริษัท เอสจี แคปปิตอล เมื่อในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ช่วยเพิ่มศักยภาพการขายสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือ ด้วยสินเชื่อ เอสจี ไฟแนนซ์พลัส ที่ให้ผลตอบแทนดี Yield สูง อัตราหนี้เสียต่ำประมาณ 1% มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และเทคโนโลยี Device Locking จากพาร์ทเนอร์ ทำให้สามารถล็อกเครื่องได้กรณีไม่ผ่อนชำระ เปิดให้โทรออกได้เฉพาะเบอร์ฉุกเฉิน และการติดต่อเพื่อขอชำระเงินเปิดใช้โทรศัพท์

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดธุรกิจนายหน้าประกันภัยผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เพื่อให้ดีลเลอร์ขายโทรศัพท์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สามารถซื้อความคุ้มครองโทรศัพท์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าของพันธมิตรเข้ามาเพิ่ม นอกเหนือจากแบรนด์ของตัวเอง ทำให้มีแบรนด์ที่หลากหลายมากขึ้น เน้นไปที่สินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงเข้ามาเติมพอร์ตได้ เฟสแรก จับมือแบรนด์ SAMSUNG TCL ACONATIC และอยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตรแบรนด์อื่นๆ คาดได้เห็นความคืบหน้าเร็วๆ นี้

รวมทั้ง นำแคมเปญล็อกสินค้า ของสินเชื่อเอสจี ไฟแนนซ์พลัส เข้ามาช่วยควบคุมความเสี่ยง โดยสินค้าที่เข้าร่วมแคมเปญล็อกได้ในปัจจุบันคือ ทีวี และเครื่องซักผ้า และเตรียมต่อยอดไปในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม

รวมทั้ง การนำเสนอสินค้ากลุ่ม EV รุกสินค้ากลุ่มจักรยานไฟฟ้าเข้ามาจัดจำหน่ายเพิ่ม เพราะราคาไม่สูงมาก ซึ่งอยู่ในหมวดสินค้าที่มองว่า อยู่ในเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ จากกระแสรักษ์โลก และ Green Energy รวมทั้งการผลักดันจากภาครัฐมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

2.การลดต้นทุนในการดำเนินงาน ด้วยการเพิ่มธุรกิจบนดิจิทัล ที่เป็นแพลตฟอร์มการทำธุรกิจแนวใหม่ ใช้ดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการ และใช้ดิจิทัลเข้ามาขยายขนาดของธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ ตั้งแต่การขอสินเชื่อ พิจารณา ไปจนถึงการอนุมัติ ลดปริมาณการใช้กระดาษ ใช้ในการยืนยันตัวตน การทำ Credit scoring ผ่านการทำ Digital app นำเสนอผ่านพาร์ทเนอร์ของเอสจี ไฟแนนซ์พลัส ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 4,000 ราย สามารถเพิ่มโอกาสให้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายของซิงเกอร์ได้ด้วย การล็อคโทรศัพท์ ล็อคเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อค้างชำระหนี้

รวมทั้ง การพัฒนาระบบการขายผ่านแคตตาล็อกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Catalog) สำหรับการนำเสนอสินค้าและบริการ ในรูปแบบออนไลน์บนแอปพลิเคชั่น ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น มาช่วยสนับสนุนพาร์ทเนอร์ และธุรกิจแฟรนไชส์

3.การขยายพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตรที่หลากหลาย NEW NETWORK ขยายเครือข่ายทางการขายด้วยเอสจี ไฟแนนซ์พลัส และการจัดหาครีเอเตอร์ในรูปแบบ Multi-Channel Network (MCN) and Affiliate เพื่อทำการตลาดรูปแบบใหม่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น การขยายไปในกลุ่ม Influencer ช่วยไลฟ์ขายสินค้า เปรียบเสมือนได้ตัวแทนขายใหม่ที่ทรงพลัง และตรงกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อาทิ TikTok ด้านช่องทางออฟไลน์ มีแผนจับมือพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ เพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขาย

ล่าสุดจับมือ “ร้านเติมใจ” ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าจิปาถะ มีจำนวนประมาณ 30 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมองว่าฐานลูกค้าเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยจะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปจัดจำหน่ายในร้านเติมใจ 30 สาขาในปีนี้ ขณะที่ ร้านซิงเกอร์ในปัจจุบันมีจำนวน 110 สาขาทั่วประเทศ และยังไม่มีนโยบายขยายสาขาเพิ่ม แต่จะเน้นเติบโตไปกับพาร์ทเนอร์

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกเครือข่ายของซิงเกอร์ มีตัวแทนขายจำนวนประมาณ 1,100 ราย คาดสิ้นปีจะขยายไปที่ 2,000 ราย เป้าหมายหลัก คือการเพิ่มขึ้นในกลุ่มดีลเลอร์ของเอสจี ไฟแนนซ์พลัส ที่ทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ หรือไอที แต่มีความสนใจในการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทฯ จะเปิดโอกาสในการเป็นตัวแทนจำหน่ายของซิงเกอร์เพิ่มเติม เพียงนำเสนอสินค้าใหม่ผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่น และ E-Catalog ทุกอย่างผ่านเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องง่ายในการสเกล และขยายการเติบโต ด้วยความเสี่ยงที่รัดกุม

“รูปแบบการทำธุรกิจแนวใหม่นี้ จะเริ่มให้ดอกออกผลในไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะทำยอดขายได้ประมาณ 10 ล้านบาทในไตรมาสดังกล่าว “นายนราธิป กล่าว