HoonSmart.com>>”ทรู คอร์ปอเรชั่น” (TRUE) แจ้งไตรมาส 2/67 ขาดทุน 1,878.65 ล้านบาท หลังบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ 4,277 ล้านบาท จากที่มีกำไรหลังปรับปรุง 2,400 ล้านบาท โชว์ความเข้มแข็ง EBITDA เพิ่มขึ้น 6 ไตรมาสต่อเนื่อง รายได้เพิ่มจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และออนไลน์ รวม 6 เดือนปีนี้ขาดทุน 2,647.90 ล้านบาท ปรับเป้าปี 67 คาดจะมีรายได้ไม่รวม IC โต 4-5% EBITDA โต 12-14% ค่าใช้จ่ายลงทุน (CAPEX) เท่าเดิม 30,000 ล้านบาท
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2/2567 ขาดทุนสุทธิ 1,878.65 ล้านบาท ขาดทุนหุ้นละ 0.054 บาท ฟื้นตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2,319.69 ล้านบาทหรือ 0.067 บาทต่อหุ้น โดยรวม 6 เดือนปีนี้ขาดทุนสุทธิ 2,647.90 ล้านบาท ขาดทุนหุ้นละ 0.077 บาท เทียบกับปีก่อนขาดทุนสุทธิ 1,704.21 ล้านบาทหรือ 0.049 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ครึ่งปีนี้ (1 ม.ค.-30 มิ.ย.2567) เทียบกับครึ่งปีก่อน (1 มี.ค.2566 (วันจดทะเบียนควบบริษัท) ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2566)
ในไตรมาสที่ 2/2567 บริษัทฯมีรายได้รวม 51,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการบริหารจัดการผลการดําเนินงานที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ และลดลง 0.5 %จากไตรมาสแรก โดยมีสาเหตุมาจากรายได้จากการขายที่ลดลงเนื่องจากปัจจัยฤดูกาล
ขณะเดียวกันบริษัทฯ รายงานผลกําไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทภายหลังจากการจัดประเภทรายการใหม่ (Normalized) เป็น 2,400 ล้านบาท โดยมี EBITDA เพิ่มขึ้น 4,883 ล้านบาทนับตั้งแต่ควบรวมบริษัท โดยเป็นการเติบโตของ EBITDA อย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันเป็นผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจออนไลน์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงจากการให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) อยู่ที่ 6,112 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
“TRUE บันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย จำนวน 4,277 ล้านบาท ส่งผลให้มีขาดทุนสุทธิ 1,879 ล้านบาท หากไม่รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กำไรสุทธิ จะอยู่ที่ 2,398 ล้านบาท ดีขึ้น 1,596 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน”
ซึ่งภายหลังจากการปรับปรุงรายการใหม่ (Normalized) จากการได้รับผลกระทบเชิงบวกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2/2566 EBITDA จะเพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากการเติบโตของรายได้ และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการ ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่การควบรวมบริษัทที่ 58.6% ในไตรมาส 2/2567
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การควบรวมกิจการเมื่อปี 2566 ทรูฯมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ผลประกอบการไตรมาส 2 สอดคล้องกับแผนการควบรวมกิจการ โดยมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและ EBITDA แสดงการเติบโตเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน
ทรูฯวางแผนการเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างกำไรและคุณค่าอย่างยั่งยืนผ่านประสบการณ์ การเติบโต และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมภายในปี 2568 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำกำไรในปี 2567 มั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตที่มีกำไร ในขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการทำกำไรอย่างยั่งยืนและการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า อุตสาหกรรม ตลาด และประเทศโดยรวม
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยแผนการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและการเตรียมพร้อมสู่อนาคตว่า บริษัทฯกำลังเร่งการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย โดยได้ดำเนินการพัฒนาไปแล้วกว่า 7,100 สถานี จากทั้งหมด 17,000 สถานี ส่งผลให้คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า (NPS) ดีขึ้น ได้จัดตั้งกลุ่มงานลูกค้าและ AI เพื่อยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย
นายชารัดกล่าวต่อว่า การพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยยังคงเป็นสิ่งที่บริษัทฯให้ความสำคัญสูงสุด กำลังใช้กลยุทธ์แบบ 360 องศาในระดับละเอียดเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความเร็วสูงสุดของ 5G เป็นสองเท่าผ่านโครงข่ายที่เหนือกว่าและครอบคลุมกว้างที่สุด ทรู ฯมีเจตนารมณ์ในการลงทุนสำหรับการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของระบบหลังบ้านแบบอัตโนมัติ (Back-end systems) เพื่อขับเคลื่อนการเป็นดิจิทัลทั่วทั้งองค์กร ทำให้ก้าวล้ำในการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี จากเสาสัญญาณทั้งหมด 59,000 สถานี จะพัฒนา 17,000 สถานี โดยมีแผนพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป 10,000 สถานีภายในปี 2567 และส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จในปี 2568 ยิ่งพัฒนามากเท่าไร ประสบการณ์ของลูกค้าก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น
บริษัทฯให้ความสำคัญเชิงคุณภาพในการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 0.6 ล้านเลขหมายในไตรมาส 2 หรือ 1.2% จากไตรมาสก่อน มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด 50.5 ล้านเลขหมาย ส่วนระบบรายเดือนคงที่ 15.3 ล้าน ผู้ใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ 3.7 ล้าน
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า EBITDA ของทรูฯ เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน ส่งผลให้มีกำไรภายหลังการปรับปรุง 2,400 ล้านบาท รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC เติบโต 5.7% ได้แรงหนุนจากการบริหารผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจ รายได้รวมอยู่ที่ 51,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการ
รายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 5.2% (YoY) เนื่องจาก ARPU เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.9% (YoY) รายได้จากบริการออนไลน์เพิ่มขึ้น 5.5% (YoY) โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU อย่างต่อเนื่องที่ 9.6% (YoY) รายได้จากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (PayTV) เพิ่มขึ้น 7.0% (YoY) จากรายได้ที่สูงขึ้นจากธุรกิจดนตรีและบันเทิง อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าสมาชิกยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาส 2/2567 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือ D&A) ลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังการปรับปรุงผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2/2566 โดยปัจจัยหลักมาจากประโยชน์ที่ได้รับจากการควบรวมกิจการ ต้นทุนเครือข่ายลดลง 7.6% (YoY) อันเป็นผลจากการประหยัดต้นทุนผ่านการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการลดอัตราราคาพลังงาน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการในโครงการปรับปรุงด้านการค้าและการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย ทั้งนี้ บริษัทได้ผสานแนวคิดการมุ่งเน้นผลการดำเนินงานเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้บริษัทฯสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทรู ฯบันทึกการเพิ่มขึ้นของ EBITDA 4,883 ล้านบาทนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ สำหรับไตรมาส 2 ดีขึ้น 733 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งหากปรับปรุงด้วยผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2/2566 EBITDA จะเพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาจากการเติบโตของรายได้และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่การควบรวมกิจการที่ 58.6% สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567
คณะผู้บริหารของทรูฯปรับปรุงแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) เติบโต 4-5% เมื่อเทียบกับปีก่อน EBITDA จะเติบโต 12-14% ส่วนแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) รวมถึงการลงทุนเพื่อการควบรวมกิจการยังคงอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ทั้งปี 2567 จะยังคงมีกำไรหากไม่รวมผลกระทบจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย