โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ชีวิตของพวกเราในแต่ละวัน มักมีค่าใช้จ่ายต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ในหลายๆครั้ง เรามักจะมีเงินในกระเป๋าที่มากพอ จนไม่ได้ระวังในการค่าใช้จ่าย เช่น บางครั้งเราอาจจะใช้เงินจำนวนมาก เพียงเพื่อซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนม หรือ ซื้อของเพียงเพราะต้องการของแถม เป็นต้น
แต่ขณะที่หลายๆ ครั้งอีกเช่นกันที่เรามีความจำเป็นในการใช้จ่าย กลับไม่มีเงินพอใช้ เช่น ต้องกู้เงินเพื่อจ่ายเงินค่าเทอมลูก หรือ ต้องถอนเงินฝากประจำโดยยอมเสียดอกเบี้ย เพื่อจ่ายค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่เราพบคนเดียว เป็นปัญหาที่หลายๆคนประสบอยู่เช่นกัน สาเหตุของปัญหาอาจเกิดเพราะเราไม่รู้จักเก็บออมเงิน หรือ เกิดเพราะเราใช้จ่ายเงินไม่เป็น หรือ เกิดเพราะเราไม่รู้จักการออมเงินที่ถูกวิธี ฯลฯ เช่น เราอาจจะเก็บเงินออมของเราไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ยเพียง 0.5% ต่อปี ทำให้เงินออมของเรางอกเงยไม่ทันค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งเราอาจออมเงินในกองทุนตราสารหนี้ที่กำหนดอายุการลงทุนที่แน่นอนเช่น 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี ทำให้เราไม่สามารถถอนเงินออกจากกองทุนก่อนกำหนดได้หากจำเป็นต้องใช้เงิน
ดังนั้น การที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราจำเป็นต้องรู้ถึงธรรมชาติของค่าใช้จ่ายต่างๆว่ามีธรรมชาติอย่างไร เพื่อจะได้บริหารเงินออมหรือรายได้ของเราให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายต่างๆได้เหมาะสม ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เราพบในชีวิตประจำวันนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทง่ายๆ ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายที่รู้เงิน รู้เวลา คือ ค่าใช้จ่ายที่เรารู้ว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไหร่ จ่ายเมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายพวกนี้โดยธรรมชาติมักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นพันธะ มีข้อผูกมัด โดยทั่วไปมักเป็นภาระหนี้สิน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ เป็นต้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่ใช่ภาระหนี้สิน เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
2.ค่าใช้จ่ายรู้เงิน ไม่รู้เวลา คือ ค่าใช้จ่ายที่เรารู้ว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าจะจ่ายเมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายประเภทนี้มักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ตรงตามเงื่อนไขที่ค่าใช้จ่ายนั้นจะเกิดขึ้น หากเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ก็คล้ายกับ ผลประโยชน์ประกันชีวิตที่บริษัทประกันต้องจ่ายให้กับผู้เอากรมธรรม์ในกรณีที่ผู้เอากรมธรรม์เสียชีวิต เป็นต้น เพราะบริษัทประกันจะรู้จำนวนทุนประกันที่ต้องจ่าย แต่ไม่รู้ว่าผู้เอาประกันจะเสียชีวิตเมื่อไหร่ คือ รู้เงิน แต่ไม่รู้เวลา นั่นเอง แต่หากสำหรับพวกเราตัวอย่างง่ายๆสำหรับค่าใช้จ่ายประเภทนี้ คือ ค่าปรับกรณีเราทำผิดกฎหมาย เช่น หากเราไม่ยอมเสียภาษีอย่างถูกต้อง เมื่อกรมสรรพากรตรวจพบ เราก็ต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามกฎหมาย ซึ่งเราสามารถคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ แต่ไม่รู้ว่ากรมสรรพากรจะตรวจพบเมื่อไหร่ คือ รู้เงิน แต่ไม่รู้เวลา เช่นกัน
3.ค่าใช้จ่ายไม่รู้เงิน รู้เวลา ค่าใช้จ่ายเราไม่รู้ว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่รู้ว่าจะจ่ายเมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มักเป็นค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามอัตราเงินเฟ้อ มีระยะเวลาที่แน่นอนในการใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ค่าเล่าเรียนลูก เราจะรู้ว่าในแต่ละปี เราต้องจ่ายค่าเทอมในเดือนไหนบ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ หลายท่านอาจจะแย้งว่าค่าเล่าเรียนหรือค่าเทอมลูก เราสามารถรู้ได้แน่นอน ซึ่งก็จริงหากมองระยะสั้นๆ เช่น 1 ปี 2 ปี แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าค่าเล่าเรียนลูกในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าต้องจ่ายเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับว่าลูกเราเข้าเรียนที่ไหน ค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เป็นต้น
4.ค่าใช้จ่ายไม่รู้เงิน ไม่รู้เวลา ค่าใช้จ่ายประเภทสุดท้ายนี้ คือค่าใช้จ่ายที่เราไม่รู้ว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไหร่ และไม่รู้ว่าจะจ่ายเมื่อไหร่ เป็นค่าใช้จ่ายที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ค่ารักษาพยาบาล เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเจ็บป่วยเมื่อไหร่ เป็นโรคอะไร ดังนั้นจึงไม่สามารถประเมินได้ว่า จะใช้จ่ายเมื่อไหร่ และจะใช้จ่ายเท่าไหร่ คือ ไม่รู้เงิน ไม่รู้เวลา นั่นเอง
การบริหารค่าใช้จ่ายทั้ง 4 ประเภทจำเป็นต้องใช้การออมเงินที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น
1.ค่าใช้จ่ายที่รู้เงิน รู้เวลา บริหารโดยการลดภาระหนิ้สินที่ไม่จำเป็น หรือ การเลือกรูปแบบประกันชีวิต หรือทุนประกันชีวิตที่ภาระการชำระเบี้ยไม่สูงมากนัก หรือสำรองเงินสดให้เพียงพอเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่าย เป็นต้น
2.ค่าใช้จ่ายรู้เงิน ไม่รู้เวลา หากเป็นค่าปรับกรณีเราทำผิดกฎหมาย วิธีแก้ไขง่ายๆ คือ อย่าทำผิดกฎหมาย หลายๆครั้ง เราคิดว่าไม่มีใครรู้ โดยเฉพาะเรื่องภาษี ซึ่งอยากขอเรียนว่า ภาษีคือภาระหน้าที่ของผู้มีเงินได้ทุกคนที่ควรจะแบ่งปันรายได้ที่เราหาได้ส่วนหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ แต่ก็มีหลายคนที่มักจะหนีภาษีโดยคิดว่ากรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบได้ หากใครคิดอย่างนั้น ขอให้คิดใหม่ได้ เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรปัจจุบันมีประสิทธิภาพที่สูงมาก โอกาสที่จะหลุดรอดสายตาของกรมสรรพากรแทบไม่มีเลย ดังนั้น ไม่คุ้มแน่ หากเราจะหลีกหนีการเสียภาษีเพียงน้อยนิด แต่ไปพบกับเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม เมื่อกรมสรรพากรตรวจพบ
3.ค่าใช้จ่ายไม่รู้เงิน รู้เวลา ค่าใช้จ่ายประเภทนี้มักจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆตามอัตราเงินเฟ้อ มีความจำเป็นในการใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ค่าเล่าเรียนลูก ดังนั้นวิธีในการบริหาร จึงต้องขึ้นอยู่กับการประเมินให้ใกล้เคียงให้มากที่สุด และต้องประเมินในกรณีที่เลวร้ายที่สุด เช่น ต้องประเมินการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในอัตราสูงสุดที่เป็นไปได้ และต้องออมเงินที่อย่างน้อยอัตราผลตอบแทนของเงินออมต้องมากกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันต้องศึกษาทางออกที่สอง กรณีไม่สามารถออมเงินได้ตามแผนที่วางไว้ เช่น การออมเงินเพื่อการศึกษาลูก ก็ต้องศึกษาการขอสินเชื่อเพื่อการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ เผื่อไว้ด้วย
4.ค่าใช้จ่ายไม่รู้เงิน ไม่รู้เวลา ค่าใช้จ่ายประเภทนี้มีความไม่แน่นอนสูงสุด ดังนั้นการบริหารค่าใช้จ่ายประเภทนี้ จึงควรทำให้เป็นค่าใช้จ่ายที่แน่นอนให้มากที่สุด เช่น ซื้อประกันสุขภาพ เพื่อลดความไม่แน่นอนของค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
แต่หากถามว่าในค่าใช้จ่ายทั้ง 4 ประเภทนี้ ค่าใช้จ่ายใดมีความเสี่ยงมากสุด หรือควรเอาใจใส่มากสุด คำถามนี้คงต้องมาดูเพิ่มเติมว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น หรือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพราะค่าใช้จ่ายทั้ง 4 ประเภทเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และไม่จำเป็นได้ทั้งสิ้น