“กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” มั่นใจรายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 30% ตามเป้า เดินหน้าผุดโครงการใหม่ๆ ต่อเนื่อง หวัง PPA 1,000 เมกะวัตต์ในปี 64 ตามแผน โซาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 40 เมกะวัตต์ ขายไฟ 1 พ.ย.นี้ ส่วนโครงการซื้อหุ้นคืนสิ้นสุดเชื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น
น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนที่ดำเนินการอยู่ เห็นได้จากที่ผ่านมาธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น โดยมั่นใจว่ารายได้รวมในปีนี้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ และกำไรดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหางานใหม่ๆ เพิ่ม ทั้งในส่วนของโซลาร์ฟาร์ม รวมถึงพลังงานลม ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวมกันแล้วประมาณ 550 เมกะวัตต์
ณ สิ้นปีนี้บริษัทฯ จะดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้าระบบประมาณ 330 เมกะวัตต์ และในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ที่เมืองเซ็นได ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ตามแผน โดยบริษัทยังฯ คงเป้าหมายที่จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ครบ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2564
น.ส.โศชภา กล่าวว่า บริษัทฯได้สิ้นสุดการดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) แล้วเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยได้ซื้อหุ้นตามโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 99,043,700 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 1.34 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท รวมเป็นมูลค่ารวมของหุ้นที่ซื้อคืนทั้งสิ้น 304,674,256 บาท
ตามแผนการดำเนินโครงการดังกล่าว บริษัทฯจะใช้วงเงินสูงสุดที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนสูงสุดไม่เกิน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท คิดเป็นร้อยละ 4.04 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-24 ต.ค.61
สำหรับการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนตามโครงการซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอีกครั้ง และจะแจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป
“การซื้อหุ้นคืนเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณแก่ผู้ลงทุนถึงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท”นางสาวโศภชา กล่าว