ความจริงความคิด : ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน…???



โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นคงหนีไม่พ้น ข่าว ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหาร EA ทุจริต เห็นข่าวนี้ คำพูดหนึ่งขึ้นมาในสมองเลย ก็คือ “อีกแล้ว!” เพราะควัน MORE STARK ยังไม่จางหายเลย มาอีกล่ะ แม้ทุกกรณีดังกล่าว ภาครัฐอาจดำเนินคดีกับผู้บริหารที่ทุจริตได้ แต่สุดท้ายคนที่ได้รับความเสียหายมากสุด ก็คือ ผู้ลงทุนที่เชื่อในระบบนี่เอง

คำถามคือ ทำไมถึงมีกรณีทุจริตมากขนาดนี้ และ EA จะเป็นกรณีสุดท้ายที่เกิด หรือว่า เป็นแค่แมลงสาบตัวแรกที่โผล่ให้เห็น ยังมีแมลงสาบอีกหลายตัวที่กำลังอิ่มหมีพลีมันกับเงินของชาวบ้านอยู่

หากพิจารณารายงานวิจัยของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) : ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทยในปัจจุบัน” วันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2560 ถึง สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทย พบว่า

48.80% สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ชีวิต ความเป็นอยู่ และเทคโนโลยี
44.32% ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ผู้กระทำผิดจึงไม่เกรงกลัว จึงได้ใจและกล้าที่จะกระทำผิด
42.72% จิตใจของผู้คนมักขาดสติ ไม่ใช้สติในการแก้ไขปัญหา ขาดศีลธรรม
34.80% พื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่แตกต่างกัน
33.04% เกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบจากสื่อหรือคนรอบข้าง
22.32% ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
0.96% การใช้ยาเสพติด

องค์กรเพื่อความ โปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การ ทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจ าปี 2566 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ 90 คะแนน จัดเป็นอันดับ 1 ของโลกคือ ประเทศ เดนมาร์ก, อันดับ 2 ของโลกได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ อันดับ 3 ของโลกได้ 85 คะแนน คือ ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน (คะแนนเท่ากับปี 2564 เลย) จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน แสดงว่าที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีพัฒนาการด้านธรรมาภิบาลเลย แม้ว่าจะมีนโยบาย ESG มีกองทุน TESG เพื่อสนับสนุนธรรมาภิบาลก็ตาม

การทุจริตของผู้บริหารมีมากมายหลายกรณี (แนะนำลองหาฟัง “Money Armageddon วันเงินตราวินาศ” รายการดี ให้ความรู้และข้อมูลประวัติศาสตร์ด้านการเงินดีมาก สามารถเอามาเป็นบทเรียนสำหรับการบริหารจัดการเงินได้ดี) ตัวอย่างเช่น กรณี บริษัทพลังงานอเมริกัน Enron ล้มละลายในปี 2001 และกรณีบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของอเมริกา WorldCom ที่ล้มละลายในปี 2002 นอกจากนั้นทั้ง 2 กรณียังถูกดำเนินคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารเพื่อที่จะหลอกลวงนักลงทุน กล่าวกันว่า Enron ใช้เวลา 16 ปี สร้างบริษัทที่มีทรัพย์สิน จาก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 65,000 ล้านเหรียญ มียอดขาย 101,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ใช้เวลาเพียง 24 วันเท่านั้น ในการล้มละลาย

และที่สำคัญทั้ง 2 บริษัทใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีรายเดียวกัน คือ Arthur Andersen หนึ่งใน 5 ยักษ์ใหญ่ของโลก The Big Five ซึ่งในเวลาต่อมาก็ต้องเลิกกิจการเช่นกัน
นอกจากกรณี ENRON, WORLDCOM ก็ยังมี TYCO, IMCLONE, GLOBAL CROSSING, ADELPHIA ฯลฯ ที่ล้วนประสบปัญหาธุรกิจ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งจากการขาดบรรษัทภิบาลที่ดีเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้บริษัทที่จะมีผลตอบแทนที่เติบโตมั่นคงในระยะยาว จะต้องเป็นบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ในด้านต่างๆ อาทิ

• ปฏิบัติกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมถึง เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้น ผู้ขายสินค้า ลูกค้า พนักงาน เจ้าหนี้ ชุมชน สังคมโดยรวม และรัฐบาล
• เปิดเผยข้อมูล โปร่งใส ถูกต้อง ชัดเจน ทันต่อเหตุการณ์ และมีความสม่ำเสมอ
• มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี
• มีความรับผิดชอบต่อสังคม
• มีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ เช่น รับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตน
• มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระและเข้มแข็ง ในการตัดสินใจใดๆที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท และยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

กิจการที่ขาดจรรยาบรรณก็เหมือนกับกำลังเสี่ยงกับระเบิดเวลาที่ไม่รู้ว่าจะระเบิดเมื่อไหร่ และเมื่อระเบิดแล้ว ผลเสียหายจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด อาจถึงขั้นล้มละลายอย่างกรณีของ Enron หรือ worldcom ก็ได้ และความเสียหายอาจไม่จบแค่ระดับองค์กร อาจลามไปถึงระดับประเทศได้ เพราะธุรกิจการเงินขับเคลื่อนด้วย “TRUST” คือ ความไว้วางใจ หากกรณีทุจริตเกิดขึ้นซ้ำซาก อย่าว่าแต่นักลงทุนต่างชาติจะไม่ลงทุนในไทยเลย นักลงทุนไทยก็หนีจากไทยด้วยเหมือนกัน