“มอร์นิ่งสตาร์” เจาะตลาด Global Bond ในไทย กองทุนท็อปฟอร์ม 5 เดือนผลตอบแทน 10.10%

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เจาะตลาดกองทุน Global Bond ช่วง 1 ปีโตแรง มูลค่าตลาดแตะ 8.8 หมื่นล้านบาท ด้าน “PIMCO” ยืนหนึ่งผู้จัดการกองทุนหลัก ดูดเงินลงทุนสูงสุดมูลค่ากว่า 5.7 หมื่นล้านบาท ด้าน “ผลตอบแทนเฉลี่ย” กองทุนในกลุ่มทั้งอุตสาหกรรมช่วง 5 เดือนปี 67 อยู่ที่ 0.5% แรงกดดันจากบาทอ่อน ฉุดผลตอบแทนกองทุนที่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินต้นทุนสูง สวนทางกองทุนที่ไม่มีป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผลงานสดใส ด้านกองทุน Top perform สร้างผลตอบแทนสูงสุด 10.10%

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เผย ขนาดตลาดของกองทุน Global Bond ในไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของกลุ่มไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีในปี 2565 ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งการปรับตัวลดลงของผลตอบแทนกว่า 11% (ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนในปี 2565 ของกองทุนในกลุ่ม Global Bond) และการไหลออกของยอดเงินลงทุนอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดของกองทุนในกลุ่ม Global Bond ค่อยๆฟื้นตัวในปี 2566 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดแตะ 8.8 หมื่นล้านบาท นับเป็นระดับที่เกือบสูงที่สุดในรอบ 5 ปีย้อนหลัง โดย บลจ. 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากที่สุดในกลุ่มกองทุน Global Bond คือ บลจ.อีสท์สปริง, บลจ.กรุงศรี, บลจ.ยูโอบี, บลจ.ไทยพาณิชย์ และ บลจ.บัวหลวง ตามลำดับ

หากพิจารณาในด้านส่วนแบ่งตลาด พบว่า บลจ.อีสท์สปริง ซึ่งมีขนาดทรัพย์สินมากที่สุดในกองทุนประเภทนี้ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 23% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของตลาดทั้งหมด ในขณะที่ บลจ. อันดับ 2 และ 3 อย่าง บลจ.กรุงศรี และ บลจ.ยูโอบี ก็มีส่วนแบ่งตลาดในระดับเกิน 20% เช่นกัน ทำให้เมื่อรวมส่วนแบ่งตลาดของ บลจ. 5 อันดับแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 80% ของตลาดทั้งหมด อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของทรัพย์สินสุทธิของแต่ละ บลจ. ค่อนข้างมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดย บลจ.อีสท์สปริง เป็นเพียง บลจ.เดียวที่มีอัตราการเติบโตปรับตัวลดลงในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ บลจ. ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด คือ บลจ.บัวหลวง ซึ่งมีอัตราการเติบโตกว่า 2 เท่า และเป็น บลจ. ที่มีจำนวนกองทุนน้อยที่สุดในกลุ่มเพียง 3 กองทุนและเป็นกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนเหมือนกันทั้ง 3 กองทุน โดยมีกองทุนตั้งต้นคือ กองทุนกองทุนเปิดบัวหลวง ไดนามิก บอนด์ จากนั้นจึงมีการออกกองทุนที่มีกลยุทธ์เดียวกันในรูปแบบกองทุน SSF และ RMF อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเพียง 1 กลยุทธ์การลงทุนหลัก แต่ก็ทำให้ บลจ.บัวหลวง สามารถไต่อันดับจนขึ้นมาเป็น บลจ. อันดับ 5 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปีกว่า

ในด้านยอดเงินลงทุนสุทธิ บลจ.กรุงศรีมียอดเงินลงทุนสุทธิในกลุ่มกองทุน Global Bond สูงที่สุดในปีนี้ คิดเป็นยอดเงินลงทุนสุทธิประมาณ 6.3 พันล้านบาท จากยอดเงินลงทุนรวมของทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 9.4 พันล้านบาท รองลงมา คือ บลจ.ยูโอบี, บลจ. บัวหลวง, บลจ.ทิสโก้ และ บลจ.กสิกร ตามลำดับ


 

กองทุน Flagship ในกลุ่มกองทุน Global Bond

กองทุน Global Bond ที่เสนอขายในประเทศไทยค่อนข้างมีความหลากหลายในด้านกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งมีทั้งการการลงทุนผ่านกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว (Feeder fund) และการกระจายการลงทุนในกองทุนหลักหลายกองทุน (Fund of funds) โดยส่วนใหญ่จะเน้นกลยุทธ์การลงทุนในเชิงรุก (Active strategy) เป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังมีทางเลือกที่หลากหลายในด้านอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่แต่ละกองทุนเน้นลงทุน

กองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คือ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ ของ บลจ.ยูโอบี ซึ่งมีขนาดกองทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และขนาดกองทุนมีการเติบโตกว่า 35% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา, รองลงมา คือ กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Income ของ บลจ.อีสท์สปริง ซึ่งมีขนาดกองทุนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แต่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างคงที่ และอันดับ 3 คือ กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม ของ บลจ.กรุงศรี

โดยทั้ง 3 กองทุนเป็นกองทุนที่เริ่มจัดตั้งใกล้เคียงกันในช่วงปี 2559 – 2560 ในขณะที่กองทุนอันดับ 4 และ 5 นั้นเป็นกองทุนที่มีการจัดตั้งในปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ก็สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวง ไดนามิก บอนด์ เป็นกองทุนเดียวที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Fund of funds ในขณะที่อีก 4 กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนผ่านกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว ซึ่งเป็นกองทุนหลักเดียวกันทั้งหมด คือ กองทุน PIMCO GIS Income Fund

ในด้านยอดเงินลงทุนสุทธิรายกองทุน กองทุนในกลุ่ม Global Bond ที่มียอดเงินลงทุนสุทธิมากที่สุดของอุตสาหกรรมในปีนี้ คือ กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม ของ บลจ.กรุงศรี ซึ่งมียอดเงินลงทุนรวมในปีนี้ประมาณ 3.2 พันล้านบาท โดยสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 0.21% ในปีนี้ รองมาคือ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ ของ บลจ.ยูโอบี ซึ่งมีกองทุนหลักเดียวกันและมียอดเงินลงทุนค่อนข้างใกล้เคียงกันกับกองทุนอันดับ 1

ในขณะที่กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลสมาร์ทอินคัมเอฟเอ็กซ์ สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดในกลุ่ม โดยสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 8.25% ซึ่งนอกจากผลตอบแทนตามกองทุนหลักแล้ว กองทุนยังได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากกองทุนไม่มีสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายกองทุนที่มีขนาดใหญ่ และได้รับความนิยม ล้วนเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุนหลักเดียวกัน คือ กองทุน PIMCO GIS Income Fund ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในไทยและทั่วโลก โดยเมื่อนับรวมทุกกองทุนในไทยที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุนหลักดังกล่าว จะมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันสูงถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนตราสารหนี้อื่นๆของ PIMCO ที่ บลจ.ในไทยนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุน จนทำให้ PIMCO กลายเป็นผู้จัดการกองทุนหลักอันดับ 1 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มกองทุน Global Bond ของไทย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของขนาดตลาดโดยรวม รองลงมาคือ J.P.Morgan Asset Management และ Nomura Asset Management ตามลำดับ


 
กองทุน Top perform

ปี 2567 เป็นอีกปีที่กองทุน Global Bond สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นบวก โดยค่าเฉลี่ยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีของกองทุนในกลุ่มทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.50% ซึ่งผลตอบแทนอาจดูไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 5.25% – 5.50% โดยสาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยกดดันด้านค่าเงิน ซึ่งกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะมีต้นทุนสำหรับการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงที่เกือบ 3% ตามส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของกองทุนในกลุ่ม จะพบว่าผลตอบแทนระหว่างกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดกับกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ต่ำที่สุด มีส่วนต่างสูงถึง 16.43% โดยกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุด คือ กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส ตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 10.10% ในปีนี้

จากข้อมูลผลตอบแทนข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนบางกลุ่มถึงทิศทางนโยบายของธนาคารกลางและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ในตลาดยังมีโอกาสของการลงทุนอยู่เสมอ โดยกองทุน 4 อันดับแรกที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดนั้นล้วนเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งได้รับประโยชน์จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ดังนั้นการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ได้ส่งผลเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารหนี้เสมอไป

โดยบางกองทุนอาจมีการกระจายสัดส่วนในตราสารหนี้หลากหลายประเภทที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นหรือช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เช่น ตราสารหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือ ตราสารหนี้ที่อิงกับอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น ขณะที่บางกองทุนอาจมีเป้าหมายการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากกองทุนหลักโดยเห็นโอกาสจากทิศทางค่าเงินที่เกิดขึ้นในตลาด ดังนั้นการคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับสภาพตลาดและเป้าหมายการลงทุนจึงล้วนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนการตัดสินใจลงทุน

—————————————————————————

อ่านข่าวอื่นๆ

5 เดือนเงินไหลเข้า Global Bond กว่า 9.3 พันลบ. หวังเฟดลดดอกเบี้ย