HoonSmart.com>>หุ้น ZIGA ร่วงแรงปิดที่ 2.06 บาท ฟลอร์ 30% หลังเจอคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับธุรกิจบิทคอยน์ และผู้ให้เช่าแรงขุดผิดสัญญา หรือจงใจละเมิด
นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) ชี้แจงว่า กรณีบริษัท กรรมการ และบริษัทย่อย ถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายเหรียญโทเคนดิจิทัล และการลงทุน ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่มีความเสี่ยงและความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้อพิพาท
ในปี 2564 บริษัทประสงค์จะดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 3/2564 จึงได้มีมติจัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท ซิก้า เอฟซี เพื่อประกอบกิจการขายธุรกิจแฟรนไชส์ และการทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัทมอบหมายให้นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ กรรมการบริษัท/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางมณฑา ทัสฐาน กรรมการบริษัท เป็นกรรมการบริษัท ซิก้า เอฟซี
ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการของบริษัท ได้จัดทีมทำงาน เพื่อศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการเข้าลงทุนในธุรกิจขุด บิตคอยน์ ทั้งในส่วนของบริษัทว่าจ้างขุด และส่วนที่บริษัท ซิก้า เอฟซี ดำเนินการขุดเอง เมื่อศึกษาข้อมูลแล้ว ฝ่ายจัดการก็ได้ร่างแผนการลงทุนในธุรกิจบิตคอยน์และแผนการลงทุนในธุรกิจ UtilitiesToken เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและอนุมัติแผนธุรกิจและแผนการลงทุนของบริษัท (Business Plan) และงบประมาณประจำปี 2565ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุนในธุรกิจบิตคอยน์ และแผนการลงทุนในธุรกิจ Utilities Token ด้วย
บริษัท ซิก้า เอฟซี จึงกำหนดความต้องการและวัตถุประสงค์ในการลงทุน โดยได้จัดเตรียมข้อมูลการนำเสนอแนวทางดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามแผนที่ได้รับอนุมัติโดยบริษัทต้องการเครื่องขุดจำนวนทั้งสิ้น 400 เครื่อง จำนวนแรงขุดรวม 41,600 TH/s แบ่งเป็น
1. บริษัท ซิก้า เอฟซี ลงทุนเองจำนวน 200 เครื่อง จำนวนแรงขุดรวม 20,800 TH/s และ 2. สัญญาเช่าเครื่องขุดบิตคอยน์ จำนวน 2 สัญญา โดยแต่ละสัญญาจะมีเครื่องขุดจ านวน 100 เครื่อง และจำนวนแรงขุด 10,400 TH/s รวมทั้งสิ้น 200 เครื่องจำนวนแรงขุดรวม 20,800 TH/s
วันที่ 20 ธ.ค. 64 คณะกรรมการบริษัท ซิก้า เอฟซี พิจารณาข้อมูล เหตุผล ความจำเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจแล้ว และบริษัทเห็นว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทประกอบกับความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเข้าประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น คณะกรรมการบริษัท ซิก้า เอฟซี จึงมีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองบิตคอยน์(Bitcoin Mining) โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด จำนวน 103.10 ล้านบาท จำนวน 20,800 TH/s ซึ่งแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนธันวาคม 2564 และเดือนมกราคม 2565 เนื่องด้วยเหตุผลว่า บริษัท ซิก้า เอฟซี มีความจำเป็นต้องการรายได้กลับคืนมาโดยเร็วและเครื่องขุดของผู้ให้เช่าแรงขุดมีประสิทธิภาพสูง และมีคุณสมบัติและเงื่อนไขทางเทคนิคที่บริษัทต้องการเป็นการเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของบริษัท
เมื่อลงนามสัญญาแล้ว บริษัท ซิก้า เอฟซี ก็ได้ชำระค่าเช่าแรงขุดล่วงหน้าไปตามสัญญาทั้งสองฉบับ และบริษัทก็ได้ทวงถามให้ผู้ให้เช่าแรงขุดส่งเอกสาร ที่ยังขาดส่งแต่ทางผู้ให้เช่าแรงขุดก็เพิกเฉยไม่นำส่งให้บริษัท
ในส่วนบริษัท วิสเดน กรุ๊ป เป็นบริษัทย่อยที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล ซึ่งทาง บริษัท วิสเดน กรุ๊ป ได้รับจ้างให้เป็นผู้ออกแบบและสร้างโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์แบบพร้อมใช้ ชื่อว่า Zii Token ให้กับบริษัท ซิก้า เอฟซี ต่อมาบริษัท ซิก้า เอฟซี จึงได้ให้บริษัท วิสเดน กรุ๊ป ช่วยจำหน่ายโทเคนดิจิทัลนั้นด้วย โดยผู้ที่ซื้อและเป็นเจ้าของโทเคนดิจิทัล Zii Token จะสามารถนำโทเคนดิจิทัล Zii Token มาแลกกำลังขุดเหรียญบิตคอยน์ต่อไป ซึ่งสามารถแลกได้ผ่านช่องทางเฉพาะที่กำหนดไว้ให้ผู้เป็นเจ้าของโทเคนดิจิทัล Zii Token ใช้เท่านั้น
สำหรับกรณีที่บริษัทฯ กรรมการ และบริษัทย่อยถูกฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง เกี่ยวกับการซื้อขายเหรียญโทเคนดิจิทัลนั้น มีที่มา กล่าวคือ มีนักลงทุนได้ซื้อโทเคนดิจิทัล Zii Token ของบริษัทย่อยโดยชำระเป็นเงินสด 100 ล้านบาท ต่อมานักลงทุนได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ กรรมการ และบริษัทย่อยเป็นคดีแพ่ง (คดีผู้บริโภค) เพราะนักลงทุนต้องการเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืน อ้างว่ามีการปกปิดข้อความที่ควรบอกหรือแจ้งให้กับนักลงทุนทราบ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทย่อยได้ส่งมอบโทเคนดิจิทัลให้แก่นักลงทุนไปจนครบถ้วนแล้ว บริษัทฯ กรรมการ และบริษัทย่อย จึงได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีตามสิทธิของตนต่อไป ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยและการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง
กรณีบริษัท วิสเดน กรุ๊ป ได้ฟ้องอดีตกรรมการบริษัทย่อยกับพวกนั้น กล่าวคือ บริษัท วิสเดน กรุ๊ป ได้ยื่นคำฟ้องคดีอาญาข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ มูลค่า 103.2 ล้านบาท โดยอดีตกรรมการและพวก มีพฤติการณ์รับเงินสดที่ได้จากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token ที่บริษัทย่อยเป็นผู้รับจ้าง จัดวางระบบ และจำหน่ายโทเ คนดิจิทั ล Zii Token ให้กับ เจ้าของโทเคนดิจิทัล Zii Token (บริษัท ซิก้า เอฟซี) ซึ่งในการจำหน่ายนั้น ได้มีการส่งมอบสินค้าหรือโทเคนดิจิทัล Zii Token ให้ผู้ซื้อครบถ้วนถูกต้องแล้ว แต่อดีตกรรมการและพวกได้ร่วมกันเบียดบังค่าตอบแทนจากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token นั้นไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ส่งมอบค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่ บริษัท วิสเดน กรุ๊ป อันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของ บริษัท วิสเดน กรุ๊ป ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญา ธนบุรี
การหยุดธุรกิจขุดเหรียญบิตคอยน์ชั่วคราว และการมีข้อพิพาทต่าง ๆ ไม่มีผลกระทบ หรือไม่ทำให้บริษัทมีภาระต่อเนื่องจากสัญญาว่าจ้างขุดเหรียญบิตคอยน์ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้ให้เช่าแรงขุดไม่ได้ขุดเหรียญและส่งมอบเหรียญให้แก่ บริษัท ซิก้า เอฟซี ตามสัญญาจริง ทาง บริษัท ซิก้า เอฟซี ย่อมมีสิทธิไม่ชำระหนี้ค่าไฟฟ้ารายเดือน หรือค่าใช้จ่ายอื่น หลังจากวันที่ผู้ให้เช่าแรงขุดผิดนัดหรือผิดสัญญา จนกว่าผู้ให้เช่าแรงขุดจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้
นอกจากนี้ การที่ผู้ให้เช่าแรงขุดผิดสัญญา หรือจงใจละเมิดต่อ บริษัท ซิก้า เอฟซี เพราะไม่จัดหาเครื่องขุดบิตคอยน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาให้บริการอย่างครบถ้วนถูกต้องตามสัญญา บริษัท จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทั้ง 2 ฉบับได้ และเนื่องจากบริษัทผู้ให้เช่าแรงขุดเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามกฎหมาย จึงสามารถบอกเลิกสัญญา และสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เพื่อเรียกเงินค่าเช่าหรือค่าจ้างที่ชำระแล้วคืน พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย สำหรับคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง คดีมีแนวโน้มที่จะชนะคดี เนื่องจากผู้ให้เช่าแรงขุดผิดสัญญาทำให้ บริษัท ซิก้า เอฟซี เสียหายจริง
ในปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อยไม่ได้มีหน้าที่หรือภาระที่จะต้องดำเนินการขุดเหรียญบิตคอยน์กับบุคคลหรือนิติบุคคลใด ๆ จึงเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ฝ่ายเดียวของบริษัทย่อยที่จะตัดสินใจอย่างใดเกี่ยวกับธุรกิจขุดเหรียญบิตคอยน์ อนึ่ง บริษัทย่อยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนเกี่ยวกับธุรกิจขุดเหรียญบิตคอยน์อื่น