HoonSmart.com>> “ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” เปิดกำไรไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 1,792 ล้านบาท ลดลง 0.2% จากงวดปีก่อน เหตุต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยในตลาด รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักอ่อนตัว โดยเฉพาะธุรกิจตลาดทุนผลกระทบจากภาวะตลาดทุนทั่วโลกผันผวน ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมธุรกิจกองทุนลดลง ด้านหนี้ NPL ขยับขึ้นเล็กน้อยแตะ 2.13% ตามการเติบโตของสินเชื่อ
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1,792.58 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.24 บาท ลดลง 0.2% จากงวดไตรมาส 1 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 1,795.49 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.24 บาท
บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย สาเหตุหลักมาจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางดอกเบี้ยในตลาดและการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ตามนโยบายการลงทุนระยะยาวเพื่อการขยายตัวของธุรกิจ ในส่วนของรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 5.1% จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 15.4% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ พร้อมกับการรับรู้ผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL)
ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักอ่อนตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนที่ชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะตลาดทุนทั่วโลกที่ผันผวน ทั้งรายได้ค่านายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง 13.8% และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนที่ลดลง 0.5% อีกทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์อ่อนตัวลง 1.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ สืบเนื่องมาจากการปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียมของทางการ อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยยังคงฟื้นตัวได้สอดคล้องกับปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 4 ปี 2565 กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 14.15 ล้านบาท หรือ 0.8% เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่อ่อนตัวลง 2.6% จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8.9% เป็นผลมาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ชะลอตัวลงตามฤดูกาล และรายได้ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อที่ลดลง อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งรายได้ค่านายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 29.3% ตามส่วนแบ่งการตลาดของ บล.ทิสโก้ที่ปรับตัวดีขึ้นและปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ฟื้นตัว และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนที่เพิ่มขึ้น 7.9% จากการออกกองทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) อยู่ในระดับต่ำที่จำนวน 125.33 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เนื่องมาจากบริษัทยังคงสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2565 มาอยู่ที่ 2.13% จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2.09% แต่เป็นไปตามกลยุทธ์การขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ทั้งนี้ เงินสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูง และเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ รอบด้าน
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2566 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,793 ล้านบาท ถือเป็นระดับทรงตัวหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยธุรกิจสินเชื่อยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องที่ระดับ 0.5% จากการขยายสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่กระจายโอกาสออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ สร้างการเติบโตให้แก่สินเชื่อจำนำทะเบียนแก่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น รวมถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังคงเติบโตได้ดีตามภาคเศรษฐกิจที่กลับมาขยายตัว หนุนให้รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยเติบโตไปพร้อมกับการปล่อยสินเชื่อใหม่
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้น เป็นไปตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการนำส่งเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่กลับสู่อัตราเดิมที่ 0.46% ต่อปี จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี พร้อมด้วยเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) สูงถึง 248% ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งถึง 23.5% นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังมีมติจ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 7.75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,205 บาทในเดือนพ.ค.นี้
“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ประกอบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง ดังนั้น ในระยะข้างหน้า กลุ่มทิสโก้ยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจด้วยความมั่นคงและมีคุณภาพ โดยรักษาความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อความยั่งยืน ตามหลักการ ESG (Environment, Social, Governance) ควบคู่กับการพัฒนา Digital Platform เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการและเพิ่มโอกาสในการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สร้างคุณค่าแก่ลูกค้า” นายศักดิ์ชัยกล่าว