ธนาคารพาณิชย์ยัน ไตรมาส 4 กำไรสดใส ปัจจัยแวดล้อมเอื้อธุรกิจ BAY ลั่นปีนี้สินเชื่อโต 8-10 % ส่วน TMB ไตรมาส 3 ผลงานจริงไม่ค่อยดี พิเศษหนุนโตเกินคาด นักวิเคราะห์มึน แนะขาย-ซื้อ บล.บัวหลวงเพิ่มเป้ากำไรปีนี้ บล.กสิกรไทยเห็นจังหวะแบงก์ร่วงหลังจบข่าวดี แนะทยอยเก็บ ยกสถิติ 1-2 สัปดาห์ฟื้นตัว
ธนาคารทยอยแจ้งผลงานไตรมาส 3/2561 เติบโตถ้วนหน้า บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โต 15% ทั้งในงวด 3 เดือนมีกำไรสุทธิ 1,814 ล้านบาท และ 9 เดือน 5,290 ล้านบาท บริษัท ทุนธนชาต (TCAP) โต 4% เศษ กำไรสุทธิ 1,869 ล้านบาทและ9เดือนโต 14% เป็น 5,819 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารทหารไทย (TMB) กำไรสุทธิเติบโตก้าวกระโดด จากรายการพิเศษ
บล.กสิกรไทย เตือนหุ้นแบงก์จะเจอแรงขายทำกำไรหลังเปิดตัวเลขกำไร เห็นตัวอย่างจาก TISCO และ TMB นักลงทุนต้องระมัดระวังการประกาศงบของธนาคารอื่นๆที่เหลือ
อย่างไรก็ตามการปรับลดลงของกลุ่มธนาคารจะเป็นโอกาสในการเข้าเก็บสะสม เพราะสถิติหลังการรายงานงบของกลุ่มธนาคารจะมีการฟื้นตัวในอีก 1-2 สัปดาห์ถัดไปด้วยความน่าจะเป็นเกือบถึง 70% โดย ยังคงแนะนำ BBL, KTB และ TISCO เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม
BAY คาดสินเชื่อปีนี้โต 8-10%
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดการณ์ว่า ในปี 2561 สินเชื่อจะเติบโตได้ 8-10% จากสิ้นปี 2560 หลังจาก 9 เดือน เติบโต 7.5% หรือเพิ่มขึ้น 116,475 ล้านบาท เป็น 1,666,879 ล้านบาท เฉพาะไตรมาส 3 สินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.5% หรือจำนวน 24,581 ล้านบาท มาจากลูกค้าทุกกลุ่ม
ส่วนแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 คาดว่ามาตรการกีดกันทางการค้าและผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด และสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจดีขึ้น เช่นเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงปลายปีเป็นฤดูกาลสินเชื่อเพื่อรายย่อยและเพื่อธุรกิจ
ไตรมาส 3 BAY มีกำไรสุทธิ 6,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท เติบโต 3.32% จากที่มีกำไรสุทธิ 6,014 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงเล็กน้อย 0.94% จากไตรมาสที่ 2 ที่มีกำไรสุทธิ 6,273 ล้านบาท
รวม 9 เดือนปีนี้ กำไรสุทธิ 18,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,172 ล้านบาท หรือ 6.68% มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพความสามารถในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 9.4% หรือจํานวน 2,193 ล้านบาท มาจากค่าธรรมเนียมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกรรมบริหารความมั่งคั่ง กองทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ กําไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและหนี้สูญรับคืน
ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.12% ในเดือนก.ย. 2561 เพิ่มขึ้นจาก 2.05% ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2561
TMB ดีเกินคาดจากกำไรพิเศษ
สำหรับธนาคารทหารไทย (TMB) กำไรสุทธิออกมาดีเกินคาดการณ์จากกำไรพิเศษ นักวิเคราะห์บล.บัวหลวง ปรับประมาณการกำไรปี 2561 ขึ้น 24% มาอยู่ที่ 1.19 หมื่นล้านบาท จากการรับรู้กำไรที่เพิ่มขึ้นจากการขายสินทรัพย์ บันทึกกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 450 ล้านบาทเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และปรับตัวเลขการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญ(LLP) จาก 9,500 ล้านบาทมาอยู่ที่ 1.58 หมื่นล้านบาท
บล.บัวหลวงแนะนำซื้อ TMB ราคาเป้าหมาย 2.65 บาท หลังกำไรสูงเกินคาด 154% และสูงกว่าตลาดคาด 160% เนื่องจากกำไรจากการขายหุ้น บลจ. ทหารไทย จำนวน 65% มีกำไรสูงถึง 1.18 หมื่นล้าน ในไตรมาส 3 เทียบกับที่เราคาดไว้ที่ 450 ล้านบาท ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองหนี้สูญและรายการพิเศษ มีจำนวน 4,600 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 5% เทียบกับไตรมาส 2 โดยตั้งสำรอง จำนวน 9,400 ล้านบาทในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 293% จากระยะเดียวกันปีก่อน และ 294% จากไตรมาสที่ 2
ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า กำไรจากการขายหุ้น บลจ.ทหารไทย มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ได้นำไปตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเมื่อไตรมาส 3 เพื่อรองรับมาตรฐาน IFRS9 โดยธนาคารได้จัดชั้นหนี้ใหม่ โดยจัดชั้นสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ลงมาเป็น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จึงเชื่อว่า หากใช้ IFRS9 จะมีภาระตั้งสำรองน้อยลง ส่งผลให้การตั้งสำรองจะน้อยลงตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ นายปิติ ยอมรับว่า เป้าหมายอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ตั้งไว้ 8% นั้นเป็นไปได้ยาก โดย 9 เดือนมีการเติบโตเพียง 3.3% แม้ว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมีการเติบโตสูงถึง 13% แต่สินเชื่อ SME ลดลง
“สินเชื่อบ้านที่เห็นว่าเติบโตสูงนั้น เป็นการเติบโตบนพื้นฐานที่แตะเบรกแล้ว ในกลุ่มบ้านหลัง 2 บ้านราคาสูง วางเงินดาวน์ต่ำ ถ้าไม่แตะเบรกมีโอกาสเติบโตถึง 20% และจากนี้จะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพราะเชื่อว่าสินเชื่อบ้านไม่ควรเติบโตเกิน 10% ขณะที่สินเชื่อ SME ที่ ปรับลดลงมาจากชำระหนี้คืนจำนวนมาก ขณะที่มีสินเชื่อปล่อยใหม่เฉลี่ยเดือนละ 2,000 ล้านบาท ถ้าจะให้สินเชื่อโตต้อง 2,500 ล้านบาทต่อเดือน แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น” นายปิติ กล่าว
SCB ทุ่มลงทุนดิจิทัล – 9 เดือนกำไรลด
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี 2561 มีรายได้จากการดำเนินงาน 34,722 ล้านบาท 1.1% จากไตรมาสก่อน และ 0.1% จากปีก่อน
โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 24,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อ 5.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวดีขึ้นจากการบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 10,332 ล้านบาท ลดลง 9.5% จากปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย การลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งได้รับการชดเชยจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุน และกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังอยู่ในระดับสูง จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการ SCB Transformation ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 3 ของปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.6% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินงานในโครงการ Transformation รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของธนาคาร และการขยายฐานลูกค้าใหม่บนระบบดิจิทัล
ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ในไตรมาส 3 ของปี 2561 จำนวน 10,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากปีก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้ 104,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 32,984 ล้านบาท ลดลง 2.9% จากปีก่อน
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 2.80% ลดลงเล็กน้อยจาก 2.83% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560
ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,134 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2561 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับเพิ่มขึ้นเป็น 142.5% นอกจากนี้ เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.6%
BBL ไตรมาส 3 กำไรโต 10% หนุน 9 เดือนพุ่ง 11%
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2561 กำไรสุทธิ 9,029.89 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.73 บาท เพิ่มขึ้น 10.64% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 8,161.31 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.28 บาท ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2561 กำไรสุทธิ 27,228.80 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 14.26 บาท เพิ่มขึ้น 11.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 24,5131.02 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 12.84 บาท
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2561 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 92,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.38% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 15.7% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ กำไรสุทธิจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 42.1%
ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวธนาคารจึงยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน