HoonSmart.com>>นักลงทุนไล่หุ้นเดลต้าฯพุ่งแรง 8.11% เพิ่มมาร์เก็ตแคปวันเดียวกว่า 9 หมื่นล้านบาท อยู่ที่ 1,229,916.68 ล้านบาท หนุนดัชนีบวก 7.5 จุด ไม่มากพอพยุงตลาดปิด -0.15% สวนทางภูมิภาค นำโดยฮ่องกงพุ่งฉิ่ว 4.21% รับตัวเลขเศรษฐกิจจีนดีเกินคาด ดันค่าเงินเอเชียแข็ง เงินบาทปิดที่ 34.81 ตลาดหลักทรัพย์เผย 37 บริษัทไทยติดอันดับยั่งยืนปี 2023 ของ S&P Global ยกระดับ Gold Class 12 บริษัท มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตอกย้ำเชื่อมั่นผู้ลงทุนทั่วโลก
ตลาดหุ้นวันที่ 1 มี.ค.2566 ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง ปิดที่ระดับ 1,619.98 จุด ลดลง 2.37 จุด หรือ -0.15% มูลค่าซื้อขายรวม 59,129.23 ล้านบาท จากแรงขายของต่างประเทศขายสุทธิ 3,017.42 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนไทย 3 กลุ่มซื้อสุทธิ ส่วนเงินบาทพลิกแข็งค่าปิดที่ 34.81 บาท/ดอลลาร์ ตามค่าเงินภูมิภาคได้ข่าวดี จีนประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.พ. ออกมาดีเกินคาด
หุ้นไทยปรับตัวลง สวนทางภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ปิดบวก นำโดยฮ่องกงพุ่งแรง 4.21% แม้ว่านักลงทุนไล่ซื้อหุ้นเดลต้าฯ(DELTA) ปิดที่ 986 บาท +74 บาทหรือ+8.11% เพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) 92,304.65 ล้านบาท เป็น 1,229,916.68 ล้านบาท แต่ต้านแรงขายหุ้นใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มไฟฟ้า ที่ผิดหวังผลงานปี 2565 บริษัทหลายแห่งประกาศผลขาดทุน เนื่องจากเจอต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงกว่า 90% และความกังวลว่านักวิเคราะห์จะปรับลดประมาณการกำไรสุทธิและราคาเป้าหมายปี 2566 หลังจากบริษัทหลายแห่งประกาศผลงานปี 2565 ออกมาแย่กว่าที่คาดไว้มาก
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นวันนี้ปิดพลิกติดลบอ่อนแอกว่าตลาดต่างประเทศ ทั้งที่ได้หุ้น DELTA เข้ามาช่วยหนุนดัชนีฯได้ราว 7.5 จุด หากไม่มี DELTA ช่วยหนุนดัชนีฯก็คงจะร่วงไปเกือบ 10 จุด จากแรงขายของหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า หลังงบฯออกมาต่ำกว่าคาด
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดต่างประเทศต่างปรับตัวขึ้นกัน โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนบวกเฉลี่ย 0.4% โดยตลาดหุ้นฮ่องกงบวกกว่า 4% และตลาดหุ้นจีนบวกได้ 1% หลังตัวเลข PMI ของจีนออกมาดี ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นในเอเชียส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น รวมถึงเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทำให้บ่งชี้เงินบาทจะแข็งค่าได้ในช่วงสั้น ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมองเป็นแค่ชั่วคราว ซึ่งภาคบริการยังเป็นบวก ทำให้มองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะดีขึ้นในระยะถัดไป
ทั้งนี้ ได้เสร็จสิ้นการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ทำให้แรงกดดันตรงนี้หายไปด้วย แต่ยังต้องติดตามดัชนีภาคการผลิตเดือนก.พ.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ที่จะออกมาในคืนนี้ และพรุ่งนี้ (2 มี.ค.)ติดตามจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) นายกรภัทร กล่าวว่า ตลาดมีโอกาสฟื้นตัว โดยมีแนวรับ 1,620 จุด แนวต้าน 1,637-1,650 จุด
ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการส่งออกในปี 2566 มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1-2% สอดคล้องกับการส่งออกประเทศคู่แข่งของไทยในภูมิภาคที่มีทิศทางหดตัวเช่นเดียวกันโดยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลัง หลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้อานิสงส์จากโควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประกาศ The Sustainability Yearbook 2023 โดย S&P Global บริษัทไทยได้รับการจัดอันดับในระดับ Gold Class จำนวน 12 บริษัทได้แก่ AWC, BJC, BTS, HMPRO, PTTGC, SCC, SCGP, TOP, TRUEE, TU, VGI และ ThaiBev ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก สะท้อนถึงความโดดเด่นของธุรกิจไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันจากทั่วโลก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอชื่นชมความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย
ทั้งนี้ S&P Global เป็นผู้จัดทำดัชนีที่ผู้ลงทุนทั่วโลกใช้ในการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจลงทุน การได้รับจัดอันดับจะสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทำให้บริษัทอยู่ในสายตาของผู้ลงทุนทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมี 5 บริษัทจดทะเบียนไทยที่เป็น Industry Mover คือมีพัฒนาการโดดเด่น มีคะแนนการประเมินความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งได้แก่ AWC, CRC, SCGP, VGI และ WHA ด้วย
ทั้งนี้ S&P Global ได้ประเมินความยั่งยืนบริษัททั่วโลก 7,822 บริษัท โดยมี 710 บริษัทที่ได้รับการประกาศใน The Sustainability Yearbook 2023 ในจำนวนนี้เป็นบริษัทไทย 37 บริษัท ซึ่งมากเป็นอันดับ 5 ของโลก การประกาศยังแบ่งการจัดอันดับเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Gold, Silver, Bronze และ Member โดยระดับ Gold Class มีบริษัทไทย 12 บริษัท ลำดับที่สองคือสหรัฐอเมริกา 11 บริษัท ลำดับสามคือไต้หวันและอิตาลี 7 บริษัท
ในปีนี้ S&P Global ได้เพิ่มเกณฑ์การคัดกรองด้านความยั่งยืนที่เข้มข้นขึ้นสอดคล้องกับแนวทางการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยจะไม่ประกาศรายชื่อบริษัทในอุตสาหกรรมยาสูบ (Tobacco) และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงที่มาจากถ่านหิน (Coal & Consumable Fuel) ใน The Sustainability Yearbook 2023 ทั้งนี้ รายชื่อบริษัทดังกล่าวจะถูกนำไปคัดเลือกเพื่อเข้าสู่ดัชนีด้านความยั่งยืนต่างๆ ของ S&P Global ทั้ง Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และ S&P ESG Index Family ต่อไป