ก.ล.ต. ห่วงนักลงทุนเชื่อข้อมูลแชร์ผ่านสื่อโซเชียล ยอมรับควบคุมไม่ได้ เปิดทางลงทุนแบบ Copy Trade หรือ Social Trading ที่เชื่อถือได้ “นายกสมาคมฟินเทค” เชื่อ ก.ล.ต. จะมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมมาดูแล
นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.เป็นห่วงการแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียล หรือ ข้อมูลจากคนใกล้ตัว (Crowdsourcing) มากกว่าข้อมูลจากนักวิเคราะห์ ซึ่งไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน และ ก.ล.ต. ไม่สามารถควบคุมได้
“Crowdsourcing เกิดขึ้นมากใน Social Media ซึ่งไม่รู้ที่มาของข้อมูล แต่กระจายไปในหมู่นักลงทุน ขณะที่ ก.ล.ต. ไม่สามารถไปกำกับดูแลได้ เพราะ ก.ล.ต. ไม่สามารถควบคุมตัวกลางเหล่านั้นได้ ควบคุมได้แต่ตัวบุคคล เช่น นักวิเคราะห์” นางทิพยสุดา กล่าว
พร้อมกันนี้ นางทิพยสุดา กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ก.ล.ต. ทำได้คือการควบคุมผ่านผู้ให้บริการฟินเทคในกลุ่มแพลตฟอร์ม Social Trading ซึ่งเป็นระบบที่นักลงทุนสามารถลงทุนตามนักลงทุนรายบุคคลที่ประสบความสำเร็จ หรือ Copy Trade โดย ก.ล.ต. สามารถกำหนดให้เปิดเผยสถิติการลงทุนอย่างโปร่งใสได้
นายเจษฎา สุขทิศ นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า พฤติกรรมของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่จะหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนโดยอ่านบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ในวงจำกัด แต่ในปัจจุบันไม่ว่าจะลงทุนสินทรัพย์ประเภทใด นักลงทุนจะหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนจากข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันเอง ซึ่ง ก.ล.ต. เรียกว่า Investor Crowdsourcing และสิ่งเหล่านี้ทำให้ข้อมูลเข้ามาใกล้ตัวนักลงทุนมากขึ้น
“Investor Crowdsourcing เกิดขึ้นเยอะมากๆ ซึ่ง ก.ล.ต. มองเห็นพฤติกรรมของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเชื่อว่า อีกไม่นาน ก.ล.ต. จะมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมมาดูแลสิ่งที่เกิดขึ้น และอีกไม่กี่ปีจากนี้ Digital Disruption จะทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นและจำนวนนักลงทุนจะเพิ่มขึ้น จาก 1 ล้านบัญชี ซึ่งมีการซื้อขายจริง 3 แสนบัญชี จะเพิ่มเป็นทวีคูณ เพราะข้อมูลจะไปถึงคนวงกว้างและทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น